Pages

Subscribe:

Monday, February 27, 2012

พัฒนาการและการปรับตัวในวัยรุ่น

ร่างกาย อารมณ์ สังคม และจิตใจ

 พัฒนาการของวัยรุ่นจะแบ่งเป็น 3 ช่วง คือ วัยแรกรุ่น (10-13ปี) วัยรุ่นตอนกลาง (14-16 ปี ) และวัยรุ่นตอนปลาย (17-19 ปี)  ทั้งนี้เพื่อจะชี้ให้เห็นถึงลักษณะที่เด่นเป็นพิเศษของวัยรุ่นแต่ละช่วง ซึ่งมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจนในด้านความรู้สึกนึกคิด และความสัมพันธ์กับบิดามารดาโดยแบ่งดังนี้
1.       วัยแรกรุ่น (10-13ปี) เป็นช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายทุกระบบ โดยจะมีความคิดหมกมุ่นกังวลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย ซึ่งจะส่งผลกระทบไปยังจิตใจ ทำให้อารมณ์หงุดหงิดและแปรปรวนง่าย

2.        วัยรุ่นตอนกลาง(14-16 ปี )  เป็นช่วงที่วัยรุ่นจะยอมรับสภาพร่างกายที่มีการเปลี่ยนแปลงเป็นหนุ่มเป็นสาวได้แล้ว มีความคิดที่ลึกซึ้ง (abstract) จึงหันมาใฝ่หาอุดมการณ์และหาเอกลักษณ์ของตนเอง เพื่อความเป็นตัวของตัวเอง และพยายามเอาชนะความรู้สึกแบบเด็กๆ ที่ผูกพันและอยากจะพึ่งพาพ่อแม่

3.        วัยรุ่นตอนปลาย(17-19 ปี)  เป็นเวลาของการฝึกฝนอาชีพ ตัดสินใจที่จะเลือกอาชีพที่เหมาะสม และเป็นช่วงเวลาที่จะมีความผูกพันแน่นแฟ้น (intimacy) กับเพื่อนต่างเพศ สภาพทางร่างกายเปลี่ยนแปลงเติบโตโดยสมบูรณ์เต็มที่ และบรรลุนิติภาวะในเชิงกฎหมาย
          การเปลี่ยนแปลงในวัยรุ่น มี 3 ทางใหญ่ๆ คือ
1.       การเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย

2.       การเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ สังคม

3.       การเปลี่ยนแปลงทางจิตใจ
ลักษณะทั่วไปของวัยรุ่น
               การที่เด็กผู้ชายผู้หญิงเติบโตเข้าสู่วัยรุ่นเร็วช้าต่างกัน โดยที่เด็กผู้หญิงจะเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงทางร่าง กายก่อนเด็กผู้ชายประมาณ 2 ปี ซึ่งจะทำให้ในชั้นประถมตอนปลาย หรือชั้นมัธยมต้นจะพบว่าวัยรุ่นหญิงจะมีร่างกายสูงใหญ่ เป็นสาวน้อยแรกรุ่น ในขณะที่พวกเด็กผู้ชายยังดูเป็นเด็กชายตัวเล็กๆ ทำให้ทั้งสองฝ่ายเกิดความสับสนและวิตกกังวลได้ เด็กผู้หญิงอาจกังวลว่าตนเองไม่หยุดสูงเสียที ในขณะที่เด็กผู้ชายก็เกิดความกังวลว่าทำไมตัวเองจึงไม่สูงใหญ่
การเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย
             1. ขนาดและความสูง : ในวัยเด็กทั้งเด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชายจะมีความกว้างของไหล่และสะโพกใกล้ เคียงกัน   แต่เมื่อเข้าสู่วัยรุ่น ผู้ชายจะมีอัตราเร็วในการเจริญเติบโตของไหล่มากที่สุด ทำให้วัยรุ่นผู้ชายจะมีไหล่กว้างกว่า ในขณะที่วัยรุ่นผู้หญิงมีอัตราการเจริญเติบโตของสะโพกมาก กว่าผู้ชาย  นอกจากนี้การที่วัยนี้มีการเจริญเติบโตสูงใหญ่ได้รวดเร็ว โดยเฉพาะที่ คอ แขน ขา มากกว่าที่ลำตัว จะทำให้วัยรุ่นรู้สึกว่าตัวเองมีรูปร่างเก้งก้างน่ารำคาญ และการเจริญเติบโตหรือการขยายขนาดของร่างกายในแต่ละส่วน อาจเกิดขึ้นไม่พร้อมกัน หรือไม่เป็นไปตามขั้นตอน เช่น ร่างกายซีกซ้ายและซีกขวาเจริญเติบโตมีขนาดไม่เท่ากันในระยะแรกๆ  ซึ่งเป็นเหตุทำให้เด็กตกอยู่ในความวิตกกังวลสูงได้ จึงควรให้ความมั่นใจกับวัยนี้
2. ไขมันและกล้ามเนื้อ : เด็กผู้ชายและเด็กผู้หญิงมีความหนาของไขมันที่สะสมอยู่ใต้ผิวหนังใกล้เคียงกัน จนกระทั่งอายุประมาณ 8 ปี  จะเริ่มมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว วัยรุ่นชายจะมีกำลังของกล้ามเนื้อมากกว่าวัยรุ่นผู้หญิง พละกำลังของกล้ามเนื้อจะแข็งแรงขึ้น  หลังจากนั้นวัยรุ่นชายจะมีไขมันใต้ผิวหนังบางลง พร้อมๆกับมีกล้ามเนื้อเพิ่มมากขึ้นและแข็งแรงขึ้น ซึ่งจะทำให้วัยรุ่นชายดูผอมลงโดยเฉพาะที่ขา น่อง และแขน  สำหรับวัยรุ่นหญิงถึงแม้ว่าจะมีการเพิ่มขึ้นของกล้ามเนื้อ แต่ขณะเดียวกันจะมีการสะสมของไขมันใต้ผิวหนังเพิ่มขึ้นอีกโดยที่น้ำหนักจะเพิ่มได้ถึงร้อยละ 25 ของน้ำหนัก โดยเฉพาะไขมันที่สะสมที่เต้านมและสะโพก ประมาณร้อยละ 50 ของวัยรุ่นหญิงจะรู้สึกไม่พอใจในรูปลักษณ์ของตน และมักคิดว่าตัวเอง "อ้วน" เกินไป มีวัยรุ่นหลายคนที่พยายามลดน้ำหนัก จนถึงขั้นที่มีรูปร่างผอมแห้ง
             3. โครงสร้างใบหน้า ช่วงนี้กระดูกของจมูกจะโตขึ้น ทำให้ดั้งจมูกเป็นสันขึ้น กระดูกขากรรไกลบนและ ขากรรไกรล่างเติบโตเร็วมากในระยะนี้ เช่นเดียวกับกล่องเสียง ลำคอ และกระดูกอัยลอยด์ และพบว่าในวัยรุ่นชายจะเจริญเติบโตเร็วกว่าวัยรุ่นหญิงชัดเจน เป็นเหตุให้วัยรุ่นชายเสียงแตก
4. การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน ทั้งฮอร์โมนการเติบโต (growth hormone) และฮอร์โมนจาก ต่อมธัยรอยด์มีอิทธิพลต่อการเจริญเติบโต รวมทั้งฮอร์โมนทางเพศ นอกจากระดับฮอร์โมนจะมีผลโดยตรงต่อการเจริญเติบโตทางร่างกาย และอวัยวะเพศในวัยรุ่นแล้ว ตัวของมันเองยังส่งผลถึงความรู้สึกทางอารมณ์และจิตใจ ปฏิกิริยาการเรียนรู้ ฯลฯ ในวัยรุ่นอีกด้วย วัยรุ่นที่จะผ่านช่วงวิกฤตนี้ได้ นอกจากจะต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาพร่างกายที่เปลี่ยนไปแล้ว ยังต้องเข้าใจและควบคุมอารมณ์ความรู้สึกที่พลุ่งพล่านขึ้น จากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนต่างๆ อีกด้วยโดยเฉพาะต่อมไขมันใต้ผิวหนัง และต่อมเหงื่อจะทำหน้าที่เพิ่มมากขึ้น เป็นสาเหตุทำให้เกิดปัญหาเรื่อง "สิว" และ "กลิ่นตัว" แต่เนื่องจากวัยนี้จะให้ความสนใจเกี่ยวกับร่างกายที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และมีความระแวดระวังตัวเองมาก จึงทำให้วัยรุ่นพยายามที่จะรักษา "สิว" อย่างเอาเป็นเอาตาย ทั้งๆที่ "สิว" จะเป็นปัญหาในช่วงวัยนี้แค่ระยะสั้นๆ เท่านั้น
5. การเปลี่ยนแปลงของอวัยวะเพศ วัยรุ่นหญิงมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงระยะ 1 ปี ก่อนที่ จะมีประจำเดือน โดยเฉพาะการเจริญเติบโตของเต้านม ซึ่งเริ่มมีการขยายในขนาดเมื่ออายุประมาณ 8-13ปี และจะใช้เวลา 2-2 ปีครึ่ง จึงจะเจริญเติบโตเต็มที่ ในช่วงอายุ 11-13 ปี วัยรุ่นหญิงส่วนใหญ่ (ร้อยละ 80) จะมีรูปร่างเป็นสาวเต็มตัว ดังนั้นในชั้นประถมตอนปลายหรือมัธยมต้น จะเห็นว่าวัยรุ่นสาวจะมีรูปร่างสูงใหญ่เป็นสาวน้อยแรกรุ่น ในขณะที่พวกผู้ชายยังดูเป็นเด็กชายตัวเล็กๆ ทั้งๆ ที่เด็กผู้หญิงเคยตัวเล็กกว่าเด็กผู้ชายมาตลอด ทำให้เด็กสับสนและเป็นกังวลกับสภาพร่างกายได้
การมีรอบเดือนครั้งแรก จะมีเมื่ออายุประมาณ 12-13 ปี การที่มีประจำเดือนแสดงให้เห็นว่า มดลูกและช่องคลอดได้เจริญเติบโตเต็มที่ แต่ในระยะ 1-2 ปี แรกของการมีประจำเดือน มักจะเป็นการมีประจำเดือนโดยไม่มีไข่ตก รอบเดือนในช่วงปีแรกจะมาไม่สม่ำเสมอ หรือขาดหายไปได้  และเมื่อมีประจำเดือนแล้ว พบว่าเด็กผู้หญิงยังสูงต่อไปอีกเล็กน้อยไปได้อีกระยะหนึ่ง และจะเติบโตเต็มที่เมื่อประมาณอายุ 15-17 ปี การมีรอบเดือนครั้งแรกอาจทำให้รู้สึกพอใจและภูมิใจที่เป็นผู้หญิงเต็มตัว หรืออาจจะรู้สึกในทางลบ คือ หวั่นไหว หวาดหวั่นหรือตกใจได้เช่นกัน โดยทั่วไปการมีรอบเดือนครั้งแรกจะเพิ่มความใกล้ชิดระหว่างวัยรุ่นหญิงกับมารดาถ้าเคยไว้วางใจกันมาก่อน แต่วัยรุ่นหญิงบางคนจะปกปิดไม่กล้าบอกใคร เพราะเข้าใจไปว่าอวัยวะเพศฉีกขาด หรือเป็นแผลจากการสำรวจตัวของวัยรุ่นเอง  ในช่วงนี้วัยรุ่นจะกังวลหมกมุ่นกับรูปร่างหน้าตา และมักใช้เวลาอยู่หน้ากระจกนานๆ เพื่อสำรวจรูปร่าง ส่วนเว้าส่วนโค้งหรือใช้กระจกส่งดูบริเวณอวัยวะเพศด้วยความอยากรู้ อยากเห็น ซึ่งก็ไม่ใช่พฤติกรรมที่ผิดปกติแต่อย่างใด
สำหรับวัยรุ่นชาย ซึ่งจะเริ่มมีการเจริญเติบโตของลูกอัณฑะ เมื่อเข้าสู่ช่วงอายุ 10-13 ปี ครึ่ง และจะใช้เวลานาน 2 - 4 ปี กว่าที่จะเติบโตและทำงานได้อย่างสมบูรณ์ ในขณะที่รูปร่างภายนอกจะมีการเจริญเติบโตเปลี่ยนแปลงช้ากว่าวัยรุ่นหญิง ประมาณ 2 ปี คือ ประมาณอายุ 12-14 ปี ในขณะที่เพื่อนผู้หญิงที่เคยตัวเล็กกว่า กลับเจริญเติบโตแซงหน้า ทำให้วัยรุ่นชายมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับรูปร่าง ความสูง ได้มาก  เมื่อเติบโตเข้าสู่วัยรุ่นตอนกลางช่วงวัย 14-16 ปี ลูกอัณฑะเจริญเติบโตและทำงานได้เต็มที่จึงสามารถพบภาวะฝันเปียกได้ บางคนเข้าใจผิดคิดว่าฝันเปียกเกิดจากการสำรวจความใคร่ด้วยตัวเอง หรือเป็นความผิดอย่างแรง หรือทำให้สภาพจิตผิดปกติ หรือบางรายวิตกกังวลไปกับจินตนาการหรือความฝัน เพราะบางครั้งจะเป็นความคิด ความฝันเกี่ยวข้องกับคนในเพศเดียวกัน ซึ่งก็ไม่ถือว่าเป็นเรื่องที่ผิดปกติอย่างใด          
การเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ สังคม

ผลจากการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายจะทำให้เกิดผลกระทบต่ออารมณ์และจิตใจได้อย่างตรงไปตรงมา ทั้งความวิตกกังวล หงุดหงิด หมกมุ่น ไม่พอใจในรูปร่างที่เปลี่ยนไป
1.       ความวิตกกังวลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย  เด็กผู้ชายที่เข้าสู่วัยรุ่นช้า จะมีความวิตกกังวลสูงเกี่ยวกับความแข็งแรงของร่างกาย ซึ่งอาจจะไม่มั่นใจในความเป็นชาย รู้สึกว่าตัวเองไม่สมบูรณ์มักลูกล้อเลียน กลั่นแกล้งจากเพื่อนๆ ที่รูปร่างใหญ่โตกว่า มีความภาคภูมิใจในตนเองในระดับต่ำและรู้สึกว่าตัวเองมีปมด้อยฝังใจไปได้อีกนาน วัยรุ่นหญิงที่โตเร็วกว่าเพื่อในวัยเดียวกัน (early mature) มักจะรู้สึกอึดอัดและรู้สึกเคอะเขิน ประหม่าอายต่อสายตาและคำพูดของเพศตรงข้าม ในขณะที่สภาพอารมณ์ จิตใจยังเป็นเด็ก

2.       ความวิตกกังวลกับอารมณ์เพศที่สูงขึ้น  การ เปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนทางเพศ ซึ่งจะส่งผลทำให้วัยรุ่นเกิดอารมณ์เพศขึ้นมาได้บ่อย  วัยรุ่นหลายคนที่มีกิจกรรมส่วนตัวที่เบี่ยงเบนความสนใจ ทำให้สามารถควบคุมอารมณ์ได้อย่างดี โดยเฉพาะในวัยรุ่นที่ชอบเล่นกีฬากลางแจ้งเป็นประจำวัยนี้จะมีความสนใจ อยากรู้อยากเห็นอยู่แล้วเป็นทุน และเมื่อมาผสมกับการที่มีระดับฮอร์โมนทางเพศเพิ่มสูงขึ้น จะทำให้เด็กเรียนรู้ที่จะหัดสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง อยากรู้อยากเห็นกิจกรรมทางเพศผู้ใหญ่ควรเข้าใจถึงความรู้สึกนึกคิดร่วมกับความอยากรู้อยากเห็นของวัยรุ่น ควรให้ความรู้ในเรื่องเพศที่ถูกต้อง และถือว่าความรู้สึกในวัยนี้เป็นเรื่องธรรมดา เป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งการที่วัยรุ่นจะสำเร็จความใคร่ด้วยตนเองนั้น ไม่มีอันตรายต่อร่างกาย และไม่ถือว่าเป็นเรื่องที่ผิดศีลธรรม ถ้ากระทำอย่างระมัดระวังเป็นส่วนตัว และไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน เป็นต้น


3.       ความวิตกกังวลกลัวการเป็นผู้ใหญ่   วัยนี้จะมีความคิดวิตกกังวล กลัวจะไม่เป็นที่ยอมรับจากคนรอบข้าง มักจะ กลัวความรับผิดชอบ ซึ่งจะรู้สึกว่าเป็นภาระที่หนักหนา ยุ่งยาก บางครั้งอยากจะเป็นเด็ก อยากแสดงอารมณ์สนุกสนาน ร่าเริง เบิกบาน

4.       ความวิตกกังวลในความงดงามทางร่างกาย   ไม่ว่าวัยรุ่นหญิงหรือชายก็จะมีความรู้สึกต้องการให้คนรอบข้าง ชื่นชมเกี่ยวกับรูปลักษณ์ภายนอกของตน สมเพศ สมวัย นั่นเป็นเพราะว่าเด็กจะสำนึกว่าความสวยงามทางกายเป็นแรงจูงใจ ทำให้คนยอมรับ ทำให้เพื่อนยอมรับเข้าไปในกลุ่มได้ง่าย เป็นวิถีทางหนึ่งที่จะเข้าสู่สังคมและเป็นที่ดึงดูดใจของเพศตรงข้าม ช่วงนี้จะเห็นว่าวัยรุ่นจะสนอกสนใจ พิถีพิถันในการเลือกเสื้อผ้า การหวีผม เอาใจใส่ต่อการออกกำลังกาย สนใจคุณค่าทางอาหาร เครื่องประดับ สุขภาพอนามัย การวางตัวให้สมบทบาททางเพศ การวางตัวในสังคม และความสนใจในแต่ละเรื่องอาจอยู่ได้ไม่นาน
การเปลี่ยนแปลงทางจิตใจ
           1.ความรักและความห่วงใย   ความรู้สึกอยากที่จะถูกรัก และยังอยากได้รับความเอาใจใส่ ห่วงใยจากบุคคลที่มีความสำคัญต่อเด็ก แต่มักจะมีข้อแม้ว่าจะต้องไม่ใช่การแสดงออกของพ่อแม่ที่ทำกับเขาราวกับเด็กเล็กๆ ไม่ต้องการความเจ้ากี้เจ้าการ ไม่ต้องการให้แสดงความห่วงใยอยู่ตลอดเวลา
           2. เป็นอิสระอยากทำอะไรได้ด้วยตัวของตัวเอง   อยากทำในสิ่งที่ตัวเองคิดแล้วว่าดี อยากมีส่วนในการตัดสินใจ อยากที่จะทำตัวห่างจากพ่อแม่ ห่างจากคำสั่งการเจริญเติบโตในการทำงานของสมอง ทำให้เด็กวัยนี้เริ่มมีความคิดอ่านเป็นของตนเอง เริ่มมีความคิดแบบนามธรรม (abstract thinking) การแยกจากพ่อแม่ในเกือบทุกรูปแบบ บางครั้งอาจทำให้วัยรุ่นเกิดความรู้สึกสับสน สองจิตสองใจ และอาจมีความรู้สึก "สูญเสีย" ในความรัก ความเอาใจใส่จากพ่อแม่ แต่ถ้าพวกเขายอมรับการดูแลหรือยอมทำตามคำสั่งของพ่อแม่ ก็จะไปขัดกับความต้องการที่จะเป็นเด็กโต เป็นอิสระของตนเองที่ต้องการพึ่งพาตนเอง การให้การเลี้ยงดูจึงต้องอาศัยความเข้าใจ และเคารพในสิทธิส่วนบุคคลด้วย
 3. ต้องการเป็นตัวของตัวเอง   ความต้องการที่ ยอมรับในสิ่งที่มาจากตัวของตัวเขาทำให้พวกเขามั่นใจในตัวเอง พ่อแม่คงต้องส่งเสริมให้เด็กได้ช่วยเหลือตัวเองให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ตามวัย เพราะในการฝึกเด็กนั้น นอกจากจะทำให้เด็กได้ใช้มือได้อย่างคล่องแคล่วแล้ว ยังช่วยทำให้เด็กได้หัดคิด หัดตัดสินใจในการกระทำสิ่งต่างๆ ด้วย
4. อยากรู้, อยากเห็น, อยากลอง      การลองผิดลองถูก และคอยสังเกตดูจากปฏิกิริยาของคนรอบข้าง เพื่อตัดสินว่าสิ่งที่ทำนั้น ดีเลวเป็นอย่างไรวัยที่โตขึ้น เมื่อความสามารถเพิ่มขึ้น ร่างกายเจริญเติบโตขึ้นมา สิ่งรอบตัวต่างๆ ที่น่าสนใจ และท้าทายความสามารถก็จะเริ่มเข้ามาเพื่อทดลองการสนับสนุนส่งเสริมเด็กให้คงสภาพอยากรู้ อยากเห็น อยากลองและได้มีโอกาสทดลองสิ่งแปลกๆ ใหม่ๆ ในขอบเขตที่เหมาะสมเพิ่มขึ้นตามวัย จะทำให้เด็กก้าวเข้าสู่วัยรุ่นด้วยความภาคภูมิใจที่ตนเองเคยมีประสบการณ์ต่างๆ มาบ้างสิ่งเหล่านี้จะมาเสริมความภาคภูมิใจในตนเองดังนั้นจะเห็นว่าการฝึกสอนและให้โอกาสเด็กได้ทดลองทำในสิ่งที่ถูกต้อง ควรฝึกสอนมาตั้งแต่เด็ก และควรค่อยๆ สอนถึงอันตรายในหลายสิ่งหลายอย่างที่มีอยู่ในสังคม และวิธีการแก้ไข เรียนรู้ทั้งสิ่งที่ดีและเลว การฝึกให้เด็กได้ลองในสิ่งที่น่าลอง แต่สนอให้หัดยั้งตัวเองในสิ่งที่อันตรายจึงเป็นวิธีที่สำคัญมาตั้งแต่วัยเรียน            แต่ในทางตรงกันข้ามในกลุ่มวัยรุ่นที่ไม่เคยถูกฝึกให้ลองคิด ลองทำก่อน จะเกิดความสับสน วุ่นวายใจขาดความรู้ ขากทักษะ ขาดการฝึกฝน ขาดการลองทำผิดทำถูกมาก่อน จึงทำให้กลุ่มนี้ตกอยู่ในกลุ่มที่มีอันตรายสูง และในกลุ่มเด็กวัยรุ่นที่พ่อแม่ปล่อยปละละเลย หรือไม่เคยสอนให้ยับยั้งชั่งใจมาก่อน นึกอยากทำอะไรก็จะทำ ไม่เคยต้องผิดหวัง ไม่เคยสนใจว่าการกระทำของตัวจะส่งผลกระทบต่อผู้คนรอบข้างอย่างไร
พฤติกรรมอยากลองของ มักจะมีสูงสุดในช่วงวัยรุ่นตอนกลาง เป็นเด็กก็ไม่ใช่ เป็นผู้ใหญ่ก็ไม่เชิง แนวความคิดและการยับยั้งตัวเองมีไม่มากพอ
 5. ความถูกต้อง ยุติธรรม โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่วัยรุ่นตอนกลาง มักจะถือว่าความยุติธรรมเป็นลักษณะหนึ่งของความเป็นผู้ใหญ่ วัยรุ่นจึงให้ความสำคัญอย่างจริงจังกับความถูกต้อง ยุติธรรมตามทัศนะของตนเป็นอย่างยิ่ง และอยากจะทำอะไรหลายๆ อย่าง เพื่อเรียกร้องความยุติธรรม ทั้งในแง่บุคคลและสังคมส่วนรวม จึงมักจะเห็นภาพวัยรุ่นถกเถียงกันเรื่องของสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัว
6.ความตื่นเต้น ท้าทาย ความต้องการหาประสบการณ์แปลกๆ ใหม่ๆ เกลียดความจำเจซ้ำซาก  วัยรุ่นกลุ่มนี้จะสร้างความตื่นเต้นท้าทายกับการที่กระทำผิดต่อกฎเกณฑ์ต่างๆ ของทางบ้านและกฏของสังคมนั่นเป็นเพราะว่าเป็นความตื่นเต้นและความรู้สึกว่าถูกท้าทาย   แนวทางการเลี้ยงดูเด็กฝึกให้เด็กได้มีโอกาสทำงานที่ท้าทายความสามารถทีละน้อยอยู่ตลอดเวลา จะส่งผลทำให้เด็กได้พัฒนาความเชี่ยวชาญขึ้นมาได้ แก้ปัญหาได้
7.ต้องการการยอมรับว่าเป็นส่วนหนึ่งของบ้าน ของกลุ่มเพื่อน     พื้นฐานการเลี้ยงดูที่ยอมรับและมีความรักความผูกพันระหว่างพ่อแม่เด็ก จะมีผลทำให้เด็กเกิดความรู้สึก ดังที่กล่าวมานี้อย่างง่ายดาย จากการฝึกฝนให้โอกาสเด็กในการตัดสินใจลงมือกระทำหรือแสดงความคิดเห็นในเรื่องต่างๆ และรับฟังพยายามทำความเข้าใจตาม ถ้าเบี่ยงเบนก็ช่วยแก้ไข ถ้าถูกต้องก็ชมเชยและชื่นชม สิ่งเหล่านี้จะไปกระตุ้นให้เด็กเกิดความรู้สึกเป็นที่ยอมรับจากบุคคลภายในบ้าน ซึ่งจะส่งผลทำให้เด็กอยากเป็นที่ยอมรับจากเพื่อน จากครูและจากคนอื่นๆ ต่อๆ ไป จึงเป็นเหตุผลจูงใจกระทำความดีมากขึ้นๆ
แต่ในกรณีตรงกันข้าม ถ้าเด็กคนใดเกิดมาในครอบครัวที่ยุ่งเหยิง ทำให้พ่อแม่ไม่มีปัญหาพอที่จะดูแลเด็ก กลับจะต้องส่งเด็กมาฝากให้ญาติเลี้ยงเป็นภาระ ไม่มีใครเป็นธุระจัดการอะไรให้อย่างออกนอกหน้า ถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ค่อยอยากจะรับรู้ รับฟังเรื่องของเด็ก ถึงเวลาจะนานก็ไม่รู้ว่าใครจะให้ความอบอุ่นเมตตาหรือรักได้ มีความรู้สึกโดดเดี่ยว ไม่เป็นที่ต้องการของใครแม้แต่คนเดียวในบ้านไม่ว่าจะถูกหรือทำผิด ทำดีหรือทำชั่วก็ไม่มีคนเห็นคนทัก หาคนที่หวังดีจริงจังในการแนะนำตักเตือนอดทนช่วยฝึกสอนก็ไม่มี ในลักษณะเช่นนี้เด็กจะมีชีวิตที่เลื่อนลอย ไม่รู้สึกว่าตัวเองเป็นสมาชิกภายในบ้าน เป็นคนหนึ่งภายในครอบครัว ไม่มีใครรับฟังปัญหา หรือไม่รู้ว่าจะปรึกษาใคร เมื่อเติบโตไปโรงเรียนก็มักจะพกพาเอาความรู้สึกโดดเดี่ยว ว้าเหว่นี้ไปที่โรงเรียน ความที่ทักษะไม่ได้ถูกฝึกสอนมาตั้งแต่ที่บ้านจึงทำให้ผลการเรียนไม่ดี และมักจะแยกตัวออกจากกลุ่มเพื่อน
ปัญหาการปรับตัวในวัยรุ่น
ความขัดแย้งในจิตใจของวัยรุ่น ที่ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่กล่าวมาแล้วนั้น เป็น สิ่งที่ปกติธรรมดาของการเจริญพัฒนาไปเป็นผู้ใหญ่ แต่จะไม่รุนแรงมีผลกระทบต่อการเรียน การงานหรือด้านสังคม ในกรณีที่ปัญหารุนแรงส่งผลกระทบต่อด้านต่างๆ นั้น จึงจะจัดว่ามีปัญหาในการปรับตัว พบได้ร้อยละ 10-15 ของวัยรุ่นทั่วไป โดยเฉพาะปฏิกิริยาต่อการรับบทบาทหน้าที่ของความเป็นผู้ใหญ่ รู้สึกว่าการดูแลรับผิดชอบตัวเองเป็นภาระที่หนักหน่วงยากที่จะรับเอาไว้ได้เกิดความเคร่งเครียด บางรายมีอาการวิตกกังวล กลุ่มใจ ท้อแท้ ทานอาหารไม่ได้ นอนไม่หลับ ติดพ่อแม่ ครู หรือเพื่อนเหมือนเด็กเล็ก หรือมีอาการแสดงออกมาทางร่างกาย เช่น ปวดหัว ปวดท้อง หรือมีอารมณ์ฉุนเฉียว วู่วาม ก้าวร้าว ต่อต้าน ซึ่งอาการเหล่านี้จะมีอยู่ไม่นาน ในที่สุดจะสามารถพัฒนาต่อไปได้ในที่สุด ชีวิตนี้แท้จริงมีปัญหาที่ทำให้เราต้องปรับตัว และแก้ไขความขัดแข้งประจำวันอยู่ตลอดเวลาแต่ในระยะวัยรุ่นซึ่งมีลักษณะพิเศษเพราะเกิดผลต่อเนื่องลุกลามได้ง่าย ทั้งนี้เนื่องจากวัยรุ่นมีอารมณ์อ่อนไหวง่าย อยากเป็นอิสระ อยากเป็นผู้ใหญ่ ไม่อยากฟังเหตุผลของใคร เจ้าทิฐิ อวดดี ถือดี แต่ในขณะเดียวกันก็ยังขาดความเชี่ยวชาญในการแก้ไขปัญหา ในการพูด การทำงาน จึงทำให้เพลี่ยงพล้ำได้ง่าย วัยรุ่นผู้เข้าใจปัญหาประจำวัยของตน และสามารถปรับตัวดำเนินชีวิตอย่างเหมาะสม คือ วัยรุ่นที่มีความสุข มีความสามารถที่จะประสบความสำเร็จในอนาคต
การสร้างบุคลิกภาพ
การค้นหาเอกลักษณ์ของตนเอง
พัฒนาทางด้านความนึกคิด ค้นหาสิ่งต่างๆ ทั้งท่าทาง คำพูด การแสดงออก การแต่งกาย การเข้าสังคม วัยรุ่นที่สามารถผ่านพ้นภาวะวิกฤติในการค้นหาตัวเองได้อย่างไม่ยุ่งยากนัก มักจะมีลักษณะดังต่อไปนี้ คือ
เป็นผู้ที่ใช้สติปัญญาเผชิญกับเหตุการณ์ในชีวิตมากกว่าการใช้อารมณ์
เป็นผู้ที่เลือกเผชิญหน้ากับปัญหามากกว่าเป็นผู้ที่จะยอมหลีกเลี่ยงปัญหา
เป็นผู้ที่รู้เท่าทันธรรมชาติของตนมาก่อน
เป็นผู้ที่ไม่มีความรู้สึกว่าตนเองโดดเดี่ยวมีหนทางที่จะไปขอความช่วยเหลือจากผู้อื่นได้
          วัยรุ่นที่สามารถผ่านวิกฤตการณ์และค้นพบตัวเอง ก็เท่ากับมีความสามารถที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มี บุคลิกภาพมั่นคง
          2. การเอาชนะตัวเอง    การควบคุมพฤติกรรม อารมณ์ให้ออกมาในรูปที่เหมาะสมในระยะแรกๆ จะพบลักษณะสองจิตสองใจระหว่างความอยากเป็นเด็กต่อไปกับความอยากเป็นผู้ใหญ่ จากความรู้สึกนึกคิดของวัยรุ่นมักจะมองว่าสภาวะผู้ใหญ่หมายความว่า พึ่งตนเองได้ ตัดสินใจได้ถูกต้อง            การที่จะเอาชนะใจตนเองนั้น เป็นสิ่งที่เด็กควรจะได้รับการเรียนรู้ ได้รับโอกาสในการฝึกฝนมาตั้งแต่เด็กๆ ทีละเล็กทีละน้อย ผ่านการที่พ่อแม่กำหนดขอบเขตต่างๆ ในชีวิต            แต่ในวัยเด็กที่ไม่เคยเรียนรู้ที่จะยับยั้งชั่งใจมาก่อน ไม่เคยเอาชนะตัวเองโดยการทำตัวให้เหมาะสมได้เลย หรือถูกเลี้ยงดูให้เอาแต่ใจตัวเอง อยากได้อะไรก็ได้ อยากทำอะไรก็จะทำ ครั้งเติบโตเข้าวัยรุ่นมีอิสระมากขึ้น ก็จะเห็นพฤติกรรมที่ไม่ยั้งคิดได้บ่อยๆ และบางครั้งกลับเป็นอันตรายทั้งต่อตนเองและผู้อื่นอีกด้วย
           3. การแยกตัวเองเป็นอิสระ คำว่าอิสระในสายตาของวัยรุ่น ก็คือ มีสิทธิและเสรีภาพเท่าที่บุคคลหนึ่งพึงจะมี ซึ่งรวมทั้งการแสดงความคิดเห็น การตัดสินใจในเหตุการณ์ต่างๆ ขณะเดียวกัน พวกเขาก็จะสังเกตดูการยอมรับจากพ่อแม่คนข้างเคียงด้วย
3.1              การได้แสดงออก
3.2              พึ่งตนเองได้
3.3              มีความรับผิดชอบ
3.4              ที่ค่านิยมที่ถูกต้อง
3.5              มั่นใจและภูมิใจในตนเอง
          1. พ่อแม่มีลักษณะที่ยอมรับความสามารถของเด็ก เข้าใจและสนับสนุนในความสามารถด้านอื่นๆ ที่เหลือมีความภาคภูมิใจในด้านอื่นๆ ของลูก และปรับสิ่งแวดล้อมในการเรียนให้เหมาะสม คือ ไม่เร่งรัด ไม่บังคับ แต่ให้กำลังใจยกตัวอย่างเช่น ป้อมลูกสาวคนเดียวของพ่อแม่ ขยัน รับผิดชอบดี แต่มีคะแนนสอนในชั้น ม.3 ได้ 2.2 และพ่อแม่ไม่ได้บังคับให้เรียนสายวิทย์ ทั้งๆ ที่อยากให้ลูกเป็นหมอ เพราะรู้ว่าถ้าให้เรียนจะทำให้เด็กลำบาก ไม่มีความสุข เป็นต้น ขณะนี้เรียนจบมหาวิทยาลัยเปิด สาขาสังคมศาสตร์ ทำงานด้านคอมพิวเตอร์ เจ้านายรักเพราะรับผิดชอบดี เป็นต้น
          2. มีความเป็นตัวของตัวเอง มั่นใจในตนเอง มองภาพพจน์ตัวเองดี แต่ไม่ใช่การเอาแต่ใจตัวเอง การฝึกให้เด็กเป็นตัวของตัวเอง และควบคุมตัวเองเป็น พึ่งพาตัวเองได้ ช่วยเหลือผู้อื่นได้ มีโอกาสคิด ตัดสินใจในเหตุการณ์ต่างๆ มาเป็นประจำ มีความยับยั้งชั่งใจ "การทำ" กับ "การไม่ทำ" ในสิ่งที่ดี และไม่ดี เด็กวัยรุ่นหลายคนที่จำยอมทำตามเพื่อนเพราะกลัวว่าเพื่อนจะดูถูกรังเกียจนั้น ทั้งๆ ที่ทำไปแล้วจะขัดต่อความรู้สึกของตัวเองก็ตาม เป็นสาเหตุจากที่ตนเองไม่มั่นใจและไม่เป็นตัวของตัวเองอย่างมั่นคง ซึ่งจะต้องมาจากการฝึกหัดสะสมความรู้ ความสามารถมาตั้งแต่เด็ก ผ่านประสบการณ์ที่ถูกเลี้ยงดูมานั่นเอง
          3. มีการสื่อสารที่ดี กล้าพูด กล้าคิด กล้าแสดงออก และกล้าที่จะทำตัวต่างจากผู้อื่นโดยยึดหลักการที่ถูกต้อง
          4. มีทางออกหลายทา เช่น กีฬา ดนตรี งานอดิเรก สังคม ศิลปะ การเรียน การงาน ฯลฯ การมีทักษะหลายๆ อย่างเป็นสิ่งที่พ่อแม่ต้องดูทักษะเด่นของลูก ซึ่งในความเด่นนั้นอาจไม่เก่งเท่าผู้อื่นก็จริง แต่ก็เป็นความสามารถที่ดีของลูกและควรให้ความสนับสนุน โดยเฉพาะทักษะในการเข้าสังคม และการปรับตัว
          5. มีโอกาสเรียนรู้จัดทั้งส่วนดีและส่วนที่เลวมาก่อนได้เรียนรู้ที่จะเข้าใจถึงคุณลักษณะของการเป็นคนดีไตร่ตรองดูคนเป็น แต่ขณะเดียวกันก็เรียนรู้ที่จะทันคน ว่ามีความเจ้าเลห์เพทุบาย โกหกหลอกลวง ซึ่งปะปนกันอยู่ในหมู่เพื่อนและคนในสังคม เรียนรู้ที่จะเข้าใจลักษณะดีและไม่ดีของพฤติกรรมของคน ทำให้ขณะที่วัยรุ่นคลุกคลีกับเพื่อนและผู้คนต่างๆ จะได้ไตร่ตรอง เพื่อว่าจะได้มาช่วยในการตัดสินใจอีกด้วย การสอนของพ่อแม่จึงควรชี้ให้เด็กเห็นความยับยั้งชั่งใจน้อยลง สิ่งต่างๆ รอบๆ ตัวจึงดูดีขึ้น ดูสบายใจขึ้น ภาระความรับผิดชอบดูเหมือนจะลดน้อยลงนั้นเอง เป็นคำตอบที่ถูกต้องและตรงกับความจริง จะทำให้เด็กเรียนรู้และยอมรับได้ดีกว่าคำตอบที่ว่า คนที่กินเหล้าเป็นเพราะคนนั้นเป็นคนไม่ดี เป็นต้น ถ้าเด็กได้เรียนรู้สิ่งเหล่านั้นทั้งด้านดี และด้านไม่ดีจนเข้าใจแล้วจะช่วยทำให้ความอยากลองเพราะอยู่รู้อยากเห็นลดลง
           ลักษณะของพ่อแม่ที่ไม่ค่อยมีปัญหากับวัยรุ่น จะมีลักษณะดังต่อไปนี้คือ
1. รัก อบอุ่น และให้ความไว้วางใจ

2. มีการสื่อสารที่ดีต่อกัน ต่างคนต่างไว้วางใจปรึกษาหารือ หรือเล่าเหตุการณ์ต่างๆ ที่ประสบมาให้ฟัง มีการยอมรับฟัง คิด สามารถที่ทั้งพ่อแม่และลูกจะแสดงความคิดเห็นคล้อยตามหรือขัดแย้งอันดีได้ ในบรรยากาศที่เป็นกันเอง

3. มั่นคง มีหลักการ มีเหตุผล มีความยืดหยุ่น

4. ควบคุมตัวเองได้ดี ทั้งอารมณ์และพฤติกรรม

5. เรียกร้องแสดงความต้องการให้เด็กเติบโตสมวัยมาทุกช่วงอายุ


  ที่มา : http://www.thaihealth.or.th

พัฒนาการวัยรุ่น Adolescent Development

นพ.  พนม  เกตุมาน
  
            วัยรุ่นเป็นวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นหลายด้าน  ทำให้ต้องมีการปรับตัวหลายด้านพร้อมๆกัน  จึงเป็นวัยที่จะเกิดปัญหาได้มาก  การปรับตัวได้สำเร็จจะช่วยให้วัยรุ่นพัฒนาตนเองเกิดบุคลิกภาพที่ดี  ซึ่งจะเป็นพื้นฐานสำคัญของการดำเนินชีวิตต่อไป  การเรียนรู้พัฒนาการวัยรุ่นจึงมีประโยชน์ทั้งต่อการส่งเสริมให้วัยรุ่นเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพดีทั้งทางร่างกายจิตใจสังคม  และช่วยป้องกันปัญหาต่างๆในวัยรุ่น  เช่น ปัญหาทางเพศ  หรือปัญหาการใช้สารเสพติด
  
พัฒนาการของวัยรุ่น

            วัยรุ่น จะเกิดขึ้นเมื่อเด็กย่างอายุประมาณ  12-13 ปี  เพศหญิงจะเข้าสู่วัยรุ่นเร็วกว่าเพศชายประมาณ 2 ปี และจะเกิดการพัฒนาไปจนถึงอายุประมาณ  18 ปี จึงจะเข้าสู่วัยผู้ใหญ่  โดยจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากในพัฒนาการด้านต่างๆ  ดังนี้

1.พัฒนาการทางร่างกาย ( Physical Development ) ประกอบด้วยการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายทั่วไป  และการเปลี่ยนแปลงทางเพศ   เนื่องจากวัยนี้ มีการสร้างและหลั่งฮอร์โมนเพศ(sex  hormones)  และฮอร์โมนของการเจริญเติบโต(growth hormone)อย่างมากและรวดเร็ว

    การเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย (physical  changes)   ร่างกายจะเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว แขนขาจะยาวขึ้นก่อนจะเห็นการเปลี่ยนแปลงอื่นประมาณ 2 ปี เพศหญิงจะไขมันมากกว่าชายที่มีกล้ามเนื้อมากกว่า  ทำให้เพศชายแข็งแรงกว่า

    การเปลี่ยนแปลงทางเพศ(sexual  changes)  สิ่งที่เห็นได้ชัดเจน  คือวัยรุ่นชายจะเป็นหนุ่มขึ้น  นมขึ้นพาน(หัวนมโตขึ้นเล็กน้อย  กดเจ็บ)  เสียงแตก  หนวดเคราขึ้น  และเริ่มมีฝันเปียก ( nocturnal ejaculation - การหลั่งน้ำอสุจิในขณะหลับและฝันเกี่ยวกับเรื่องทางเพศ)  การเกิดฝันเปียกครั้งแรกเป็นสัญญานของการเข้าสู่วัยรุ่นของเพศชาย  ส่วนวัยรุ่นหญิงจะเป็นสาวขึ้น  คือ เต้านมมีขนาดโตขึ้น  ไขมันที่เพิ่มขึ้นจะทำให้รูปร่างมีทรวดทรง  สะโพกผายออก  และเริ่มมีประจำเดือนครั้งแรก ( menarche)  การมีประจำเดือนครั้งแรก เป็นสัญญานบอกการเข้าสู่วัยรุ่นในหญิง

   ทั้งสองเพศจะมีการเปลี่ยนแปลงของอวัยวะเพศ  ซึ่งจะมีขนาดโตขึ้น และเปลี่ยนเป็นแบบผู้ใหญ่  มีขนขึ้นบริเวณอวัยวะเพศ  มีกลิ่นตัว  มีสิวขึ้น

2. พัฒนาการทางจิตใจ  (Psychological Development)

สติปัญญา(Intellectual Development)  วัยนี้สติปัญญาจะพัฒนาสูงขึ้น  จนมีความคิดเป็นแบบรูปธรรม (Jean Piaget  ใช้คำอธิบายว่า  Formal Operation  ซึ่งมีความหมายถึงความสามารถเรียนรู้  เข้าใจเหตุการณ์ต่างๆ  ได้ลึกซึ้งขึ้นแบบ abstract thinking)  มีความสามารถในการคิด  วิเคราะห์  และสังเคราะห์  สิ่งต่างๆได้มากขึ้นตามลำดับจนเมื่อพ้นวัยรุ่นแล้ว  จะมีความสามารถทางสติปัญญาได้เหมือนผู้ใหญ่  แต่ในช่วงระหว่างวัยรุ่นนี้  ยังอาจขาดความยั้งคิด  มีความหุนหันพลันแล่น  ขาดการไตร่ตรองให้รอบคอบ

ความคิดเกี่ยวกับตนเอง (Self Awareness)  วัยนี้จะเริ่มมีความสามารถในการรับรู้ตนเอง ด้านต่างๆ   ดังนี้

เอกลักษณ์ (identity) วัยรุ่นจะเริ่มแสดงออกถึงสิ่งตนเองชอบ  สิ่งที่ตนเองถนัด  ซึ่งจะแสดงถึงความเป็นตัวตนของเขาที่โดดเด่น  ได้แก่  วิชาที่เขาชอบเรียน  กีฬาที่ชอบเล่น  งานอดิเรก  การใช้เวลาว่างให้เกิดความเพลิดเพลิน   กลุ่มเพื่อนที่ชอบและสนิทสนมด้วย  โดยเขาจะเลือกคบคนที่มีส่วนคล้ายคลึงกัน  หรือเข้ากันได้   และจะเกิดการเรียนรู้และถ่ายทอดแบบอย่างจากกลุ่มเพื่อนนี้เอง  ทั้งแนวคิด  ค่านิยม  ระบบจริยธรรม  การแสดงออกและการแก้ปัญหาในชีวิต  จนสิ่งเหล่านี้กลายเป็นเอกลักษณ์ของตน  และกลายเป็นบุคลิกภาพนั่นเอง   สิ่งที่แสดงถึงเอกลักษณ์ตนเองยังมีอีกหลายด้าน  ได้แก่  เอกลักษณ์ทางเพศ(sexual  identity  and sexual orientation)  แฟชั่น  ดารา  นักร้อง  การแต่งกาย    ทางความเชื่อในศาสนา  อาชีพ  คติประจำใจ  เป้าหมายในการดำเนินชีวิต   ( Erik Erikson  อธิบายว่าวัยรุ่นจะเกิดเอกลักษณ์ของตนในวัยนี้  ถ้าไม่เกิดจะมีความสับสนในตนเอง Identity  VS  Role confusion )

ภาพลักษณ์ของตนเอง (self  image)  คือการมองภาพของตนเอง  ในด้านต่างๆ  ได้แก่   หน้าตา  รูปร่าง  ความสวยความหล่อ  ความพิการ  ข้อดีข้อด้อยทางร่างกายของตนเอง  วัยรุ่นจะสนใจหรือ  ให้เวลาเกี่ยวกับรูปร่าง  ผิวพรรณมากกว่าวัยอื่นๆ  ถ้าตัวมีข้อด้อยกว่าคนอื่นก็จะเกิดความอับอาย 

การได้รับการยอมรับจากผู้อื่น (acceptance)  วัยนี้ต้องการการยอมรับจากกลุ่มเพื่อนอย่างมาก  การได้รับการยอมรับจะช่วยให้เกิดความรู้สึกมั่นคง  ปลอดภัย  เห็นคุณค่าของตนเอง  มั่นใจตนเอง  วัยนี้จึงมักอยากเด่นอยากดัง อยากให้มีคนรู้จักมากๆ    

ความภาคภูมิใจตนเอง (self esteem) เกิดจากการที่ตนเองเป็นที่ยอมรับของเพื่อนและคนอื่นๆได้  รู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า  เป็นคนดีและมีประโยชน์แก่ผู้อื่นได้  ทำอะไรได้สำเร็จ

ความเป็นตัวของตัวเอง  (independent)  วัยนี้จะรักอิสระ  เสรีภาพ ไม่ค่อยชอบอยู่ในกฎเกณฑ์กติกาใดๆ  ชอบคิดเอง  ทำเอง  พึ่งตัวเอง  เชื่อความคิดตนเอง   มีปฏิกิริยาตอบโต้ผู้ใหญ่ที่บีบบังคับสูง    ความอยากรู้อยากเห็นอยากลองจะมีสูงสุดในวัยนี้  ทำให้อาจเกิดพฤติกรรมเสี่ยงได้ง่ายถ้าวัยรุ่นขาดการยั้งคิดที่ดี  การได้ทำอะไรด้วยตนเอง  และทำได้สำเร็จจะช่วยให้วัยรุ่นมีความมั่นใจในตนเอง (self  confidence)

การควบคุมตนเอง (self control) วัยนี้จะเรียนรู้ที่จะควบคุมความคิด  การรู้จักยั้งคิด การคิดให้เป็นระบบ  เพื่อให้สามารถใช้ความคิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ  และ อยู่ร่วมกับผู้อื่นได้
  
อารมณ์ (mood)   อารมณ์จะปั่นป่วน  เปลี่ยนแปลงง่าย  หงุดหงิดง่าย  เครียดง่าย  โกรธง่าย   อาจเกิดอารมณ์ซึมเศร้าโดยไม่มีสาเหตุได้ง่าย  อารมณ์ที่ไม่ดีเหล่านี้อาจทำให้เกิดพฤติกรรมเกเร  ก้าวร้าว   มีผลต่อการเรียนและการดำเนินชีวิต  ในวัยรุ่นตอนต้น  การควบคุมอารมณ์ยังไม่ค่อยดีนัก  บางครั้งยังทำอะไรตามอารมณ์ตัวเองอยู่บ้าง  แต่จะค่อยๆดีขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น  อารมณ์เพศวัยนี้จะมีมาก  ทำให้มีความสนใจเรื่องทางเพศ  หรือมีพฤติกรรมทางเพศ  เช่น  การสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง   ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติในวัยนี้  แต่พฤติกรรมบางอย่างอาจเป็นปัญหา  เช่น  เบี่ยงเบนทางเพศ กามวิปริต หรือการมีเพศสัมพันธ์ในวัยรุ่น
  
จริยธรรม (moral development) วัยนี้จะมีความคิดเชิงอุดมคติสูง(idealism)  เพราะเขาจะแยกแยะความผิดชอบชั่วดีได้แล้ว  มีระบบมโนธรรมของตนเอง   ต้องการให้เกิดความถูกต้อง  ความชอบธรรมในสังคม  ชอบช่วยเหลือผู้อื่น   ต้องการเป็นคนดี  เป็นที่ชื่นชอบของคนอื่น    และจะรู้สึกอึดอัดคับข้องใจกับความไม่ถูกต้องในสังคม  หรือในบ้าน  แม้แต่พ่อแม่ของตนเองเขาก็เริ่มรู้สึกว่าไม่ได้ดีสมบูรณ์แบบเหมือนเมื่อก่อนอีกต่อไปแล้ว  บางครั้งเขาจะแสดงออก  วิพากษ์วิจารณ์พ่อแม่หรือ ครูอาจารย์ตรงๆอย่างรุนแรง  การต่อต้าน ประท้วงจึงเกิดได้บ่อยในวัยนี้เมื่อวัยรุ่นเห็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง  หรือมีการเอาเปรียบ เบียดเบียน  ความไม่เสมอภาคกัน   ในวัยรุ่นตอนต้นการควบคุมตนเองอาจยังไม่ดีนัก  แต่เมื่อพ้นวัยรุ่นนี้ไป  การควบคุมตนเองจะดีขึ้น  จนเป็นระบบจริยธรรมที่สมบูรณ์เหมือนผู้ใหญ่
  
3.พัฒนาการทางสังคม (Social Development)

วัยนี้จะเริ่มห่างจากทางบ้าน  ไม่ค่อยสนิทสนมคลุกคลีกับพ่อแม่พี่น้องเหมือนเดิม  แต่จะสนใจเพื่อนมากกว่า  จะใช้เวลากับเพื่อนนานๆ     มีกิจกรรมนอกบ้านมาก   ไม่อยากไปไหนกับทางบ้าน   เริ่มมีความสนใจเพศตรงข้าม  สนใจสังคมสิ่งแวดล้อม  ปรับตัวเองให้เข้ากับกฎเกณฑ์กติกาของกลุ่ม  ของสังคมได้ดีขึ้น   มีความสามารถในทักษะสังคม  การสื่อสารเจรจา  การแก้ปัญหา  การประนีประนอม  การยืดหยุ่นโอนอ่อนผ่อนตามกัน  และการทำงานร่วมกับผู้อื่น  พัฒนาการทางสังคมที่ดีจะเป็นพื้นฐานมนุษยสัมพันธ์ที่ดี  และบุคลิกภาพที่ดี  การเรียนรู้สังคมจะช่วยให้ตนเองหาแนวทางการดำเนินชีวิตที่เหมาะกับตนเอง  เลือกวิชาชีพที่เหมาะกับตน  และมีสังคมสิ่งแวดล้อมที่ดีต่อตนเองในอนาคตต่อไป

  เป้าหมายของการพัฒนาวัยรุ่น

1.   ร่างกายที่แข็งแรง  ปราศจากความบกพร่องทางกาย  มีความสมบูรณ์  มีภูมิต้านทานโรคและปราศจากภาวะเสี่ยงต่อปัญหาทางกายต่างๆ

2.   เอกลักษณ์แห่งตนเองดี

·       บุคลิกภาพดี  มีทักษะส่วนตัว  และทักษะสังคมดี

·       เอกลักษณ์ทางเพศเหมาะสม

·       การเรียนและอาชีพ ได้ตามศักยภาพของตน  ตามความชอบความถนัด และความเป็นไปได้  ทำให้มีความพอใจต่อตนเอง

·       การดำเนินชีวิต  สอดคล้องกับความชอบความถนัด  มีการผ่อนคลาย  กีฬา  งานอดิเรก  มีความสุขได้โดยไม่เบียดเบียนคนอื่น  มีการช่วยเหลือคนอื่นและสิ่งแวดล้อม

·       มีมโนธรรมดี  เป็นคนดี
   
3.   มีการบริหารตนเองได้ดี  สามารถบริหารจัดการตนเอง โดยไม่ต้องพึ่งพาผู้อื่น

4.   มีความรับผิดชอบ   มีความรับผิดชอบทั้งต่อตนเอง  ต่อผู้อื่น  ต่อประเทศชาติ และต่อสิ่งแวดล้อมได้ดี

5.   มีมนุษยสัมพันธ์กับคนอื่นได้ดี
  
ปัญหาพฤติกรรมในวัยรุ่น

            ปัญหาที่พบได้บ่อยในวัยรุ่น  มีดังนี้

ปัญหาความสัมพันธ์กับพ่อแม่  วัยนี้จะแสดงพฤติกรรมที่แสดงความเป็นตัวของตัวเองค่อนข้างมาก การพูดจาไม่ค่อยเรียบร้อย  อารมณ์แปรปรวนเปลี่ยนแปลงง่าย  ความรับผิดชอบขึ้นๆลงๆ  เอาแต่ใจตัวเอง  ทำให้พ่อแม่  ผู้ปกครอง  หรือครูอาจารย์หงุดหงิดไม่พอใจได้มากๆ  ถ้าใช้วิธีการจัดการไม่ถูกต้อง  เช่น  ใช้วิธีดุด่าว่ากล่าว  ตำหนิ  หรือลงโทษรุนแรง  จะเกิดปฏิกิริยาต่อต้าน  เป็นอารมณ์ต่อกัน  ไม่ได้ช่วยเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมวัยรุ่น

วิธีการจัดการกับปัญหาพฤติกรรมเหล่านี้  เริ่มต้นจากการทำความเข้าใจความต้องการของวัยรุ่น  มีการตอบสนองโดยประนีประนอมยืดหยุ่น  แต่ก็ยังคงมีขอบเขตพอสมควร  พยายามจูงใจให้ร่วมมือมากกว่าการบังคับกันตรงๆหรือรุนแรง  สร้างความสัมพันธ์ที่ดีไว้ก่อน  อย่าหงุดหงิดกับพฤติกรรมเล็กๆน้อยๆ
  
ปัญหาการใช้สารเสพติด (substance use disorders) ตามธรรมชาติของวัยรุ่นจะมีความอยากรู้อยากเห็นอยากลองมาก  ถ้าขาดการยับยั้งชั่งใจด้วย  การที่อยู่ในกลุ่มที่ใช้สารเสพติด  หรือเพื่อนใช้สารเสพติด  จะมีการชักชวนให้ใช้ร่วมกัน  บางคนไม่กล้าปฏิเสธเพื่อน  บางคนใช้เพื่อให้เหมือนเพื่อนๆ  เมื่อลองแล้วเกิดความพอใจก็จะติดได้ง่าย

 ปัญหาทางเพศ(Sexual Problems)

พฤติกรรมรักร่วมเพศ (homosexualism) เป็นพฤติกรรมที่จะทำให้เกิดปํญหาตามมาได้มาก  คนที่เป็นรักร่วมเพศมักจะเจอปัญหาในการดำเนินชีวิตได้มากกว่าคนทั่วไป  ในบางสังคมมีการต่อต้านพฤติกรรมรักร่วมเพศ  มีการรังเกียจ  ล้อเลียน  ไม่ยอมรับ  บางประเทศมีกฎหมายลงโทษการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างเพศเดียวกันเอง

รักร่วมเพศ  คือพฤติกรรมที่พึงพอใจทางเพศกับเพศเดียวกัน  อาจมีการแสดงออกภายนอกให้เห็นชัดเจนหรือไม่ก็ได้

การรักษาผู้ที่เป็นรักร่วมเพศ  มักไม่ได้ผล  เนื่องจากผู้ที่เป็นรักร่วมเพศมักจะพอใจในลักษณะแบบนี้อยู่แล้ว  การช่วยเหลือทำได้โดยการให้คำปรึกษาผู้ที่เป็นพ่อแม่  และผู้ป่วย  เพื่อให้ปรับตัวได้   ไม่รังเกียจลูกที่เป็นแบบนี้  และผู้ป่วยแสดงออกเหมาะสม  ไม่มากเกินไปจนมีการรังเกียจต่อต้านจากคนใกล้ชิด

การป้องกันภาวะรักร่วมเพศ   ทำได้โดยการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่เพศเดียวกับเด็ก  เพื่อให้มีการถ่ายทอดแบบอย่างทางเพศจากพ่อหรือแม่เพศเดียวกับเด็ก
  
การสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง (masturbation) ในวัยรุ่นการสำเร็จความใคร่ด้วยตนเองเป็นพฤติกรรมปกติ  ไม่มีอันตราย  ไม่มีผลเสียต่อร่างกายหรือจิตใจ  การทำไม่ควรหมกมุ่นมากจนเป็นปัญหาต่อการใช้เวลาที่ควรทำ  หรือทำให้ขาดกิจกรรมที่เป็นประโยชน์อื่นๆ
  
การมีเพศสัมพันธ์ในวัยรุ่น (sexual relationship)  มักเกิดจากวัยรุ่นที่ขาดการยับยั้งชั่งใจ  หรือมีปัญหาทางอารมณ์  และใช้เพศสัมพันธ์เป็นการทดแทน  เพศสัมพันธ์ในวัยรุ่นมักไม่ได้ยั้งคิดให้รอบคอบ  ขาดการไตร่ตรอง  ทำตามอารมณ์เพศ  หรืออยู่ภายใต้ฤทธิ์ของสารเสพติด  ทำให้เกิดปัญหาการติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์    การตั้งครรภ์   การทำแท้ง  การเลี้ยงลูกที่ไม่ถูกต้อง  ปัญหาครอบครัว  และกลายเป็นปัญหาสังคมในที่สุด
  
ปัญหาบุคลิกภาพ (personality problems)  วัยรุ่นจะเป็นวัยที่มีพัฒนาการของบุคลิกภาพอย่างชัดเจน  ทั้งนิสัยใจคอ  การคิด  การกระทำ  จะเป็นรูปแบบที่สม่ำเสมอ  จนสามารถคาดการณ์ได้ว่าในเหตุการณ์แบบนี้  เขาจะแสดงออกอย่างไร  ถ้าการเรียนรู้ที่ผ่านมาดี  วัยรุ่นจะมีบุคลิกภาพดีด้วย  แต่ในทางตรงข้าม  ถ้ามีปัญหาในชีวิต  หรือเรียนรู้แบบผิดๆ  จะกลายเป็นบุคลิกภาพที่เป็นปัญหา  ปรับตัวเข้ากับคนอื่นได้น้อย  เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง  และจะติดตัวไปตลอดชีวิต   ถ้าเป็นปัญหามากๆเรียกว่าบุคลิกภาพผิดปกติ (personality disorders)
  
ความประพฤติผิดปกติ  (conduct disorder)  คือ โรคที่มีปัญหาพฤติกรรมกลุ่มที่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน  โดยตนเองพอใจ  ได้แก่  การละเมิดสิทธิผู้อื่น  การขโมย  ฉ้อโกง ตีชิงวิ่งราว   ทำร้ายผู้อื่น  ทำลายข้าวของ  เกเร  หรือละเมิดกฎเกณฑ์ของหมู่คณะหรือสังคม   การหนีเรียน  ไม่กลับบ้าน  หนีเที่ยว  โกหก  หลอกลวง  ล่วงเกินทางเพศ  การใช้สารเสพติด  อาการดังกล่าวนี้มักจะเกิดขึ้นต่อเนื่องมานานพอสมควร  สัมพันธ์กันปัญหาในครอบครัว   การเลี้ยงดู  ปัญหาอารมณ์

            การรักษาควรรีบทำทันที  เพราะการปล่อยไว้นาน  จะยิ่งเรื้อรังรักษายาก  และกลายเป็นบุคลิกภาพแบบอันธพาล (antisocial personality disorder)
  
การป้องกันปัญหาวัยรุ่น

1.   การเลี้ยงดูอย่างถูกต้อง  ให้ความรักความอบอุ่น

2.   การฝึกให้รู้จักระเบียบวินัย  การควบคุมตัวเอง

3.   การฝึกทักษะชีวิต  ให้แก้ไขปัญหาได้ถูกต้อง  มีทักษะในการปฏิเสธสิ่งที่ไม่ถูกต้อง

4.   การสอนให้เด็กรู้จักคบเพื่อน  ทักษะสังคมดี

5.   การฝึกให้เด็กมีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง

                                                                                                                                                                ที่มา : http://www.psyclin.co.th

Friday, February 24, 2012

เทคนิคการเป็นเพื่อนกับวัยรุ่น


วัยรุ่นเป็นวัยที่ต่างไปจากพ่อแม่ ตอนพ่อแม่เป็นวัยรุ่น รอบตัวยังไม่มีอะไร ที่ทำให้เสียคน ได้มากเท่ากับทุกวันนี้ พ่อแม่ถึงได้งงที่ลูกทำอะไรแปลกไปจากที่หวัง พ่อแม่ถามก็ว่าจู้จี้ ไม่พอใจ พอพ่อแม่ไม่ถามก็หาว่าไม่ใส่ใจ พ่อแม่เลยทำตัวไม่ถูก วิธีง่าย ๆ คือฟังกันบ้าง การฟังนี้ไม่จำเป็นต้องพูดก็ได้ แค่ทำก็น่าจะพอแล้ว เช่น เล่นฟุตบอลกับลูกชาย ตีแบดมินตันกับลูกสาว ดูโทรทัศน์ด้วยกัน ฯลฯ อย่าลืมว่าวัยรุ่นเป็นวัยที่เริ่มเป็นตัวของตัวเอง ร่างกายจิตใจเริ่มเปลี่ยนแปลง ผู้ใหญ่ชอบมองว่าวัยรุ่นเป็นวัยที่พูดไม่รู้เรื่อง ทั้ง ๆ ที่วัยรุ่นเองก็งงกับตัวเอง ยังไม่ชินและปรับตัวฉับพลันยาก จึงอยากได้พ่อแม่เข้าใจ

"ฟิลลิปส์ ออสบอนด์" ผู้แต่งหนังสือ "Parenting for the 90's" กล่าวว่า การได้อยู่กับลูกจะเป็นหนทางให้พูดคุยกันได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องในบ้านหรือนอกบ้าน

"รอน แทฟเพล" นักจิตวิทยาและผู้แต่งหนังสือ "Parenting by Hearts" กล่าวว่า การเข้าใจลูกไม่จำเป็นต้องเผชิญหน้ากันก็ได้ แค่อยู่ด้วยกัน กินข้าวด้วยกัน กลับบ้านด้วยกันก็พอมีทางเข้าใจกันได้ เพราะช่วงนั้น การพูดจากัน อาจจะง่ายกว่าพูดกันแบบเป็นทางการ และวัยรุ่นจะรู้สึกว่า เราเป็นเพื่อนมากกว่าผู้คุม

ข้อควรปฏิบัติในการเป็นเพื่อนกับวัยรุ่น

อย่าทะเลาะเบาะแว้งต่อหน้าลูก
พ่อแม่อย่าเลี้ยงลูกแบบคนละทาง เช่น แม่พูดอย่าง พ่อพูดอีกอย่าง เด็กจะสับสน และหากคนไหนใหญ่ เด็กจะเชื่อคนนั้น ถ้าพ่อตามใจ แม่ไม่เอาด้วย เด็กอาจต้านในใจ หรืออยากเอาชนะได้ โดยเฉพาะทำตัวเป็นพวกกับคนไหนก็ได้ที่คิดว่าพอพึ่งได้
ทางที่ดีพ่อแม่ต้องรักสามัคคี ในการอบรมลูก อย่าขัดกันเอง หรือมีเรื่องก็ตกลงกันให้ได้ ลูกจะได้เห็นว่าปัญหาเกิดขึ้นได้ ก็มีทางออกได้ หากลูกมีปัญหาจะได้มีกำลังใจแก้ไข หรือแก้ไขไม่ได้ จะได้มาหาพ่อแม่เพื่อช่วยเหลือ
หากพ่อแม่ทะเลาะกันเอง ลูกคงหมดกำลังใจจะขอความช่วยเหลือ ยิ่งประเภททะเลาะกันต่อหน้าลูกลูกยิ่งหมดความเชื่อถือเพราะมีความรู้สึกว่า ทำไมพ่อแม่พูดกันไม่รู้เรื่อง แล้วจะพูดกับแกรู้เรื่องได้อย่างไร พ่อแม่จึงต้อง แสดงให้ลูกเห็นว่าพ่อแม่รักสามัคคีกัน

อย่าบังคับแต่ให้คำแนะนำ
วัยรุ่นจะต้านถ้าสั่ง แต่ถ้าแกถามอะไร เราน่าจะถามว่าแกคิดอย่างไร เพื่อให้แกมีโอกาสพูด ระบายความในใจโดยไม่ขัดคอ เราจะได้ดูท่าทีว่า วัยรุ่นคิดอย่างไร เป็นการฟังก่อนและค่อยพูด เมื่อแกพร้อมจะฟัง และถ้าให้วัยรุ่นรู้จักทางออกเอง จะทำให้แกอยู่ในโลกได้อย่างมีเหตุผลและแข็งแกร่งขึ้น

เช่น เด็กหญิงแหม่มไม่เรียนหนังสือแต่ไปเที่ยวตามศูนย์การค้า พอพ่อแม่รู้เข้า ก็เลยเรียกแหม่มมาคุย ซึ่งแหม่มตกใจในตอนแรกก็จริงแต่เมื่อเห็นพ่อแม่ถามด้วยดี แกมั่นใจว่าแกพูดความจริงได้
- "ลูกอายุแค่ 13 ปี ควรเรียนหรือควรเที่ยว"
- "เรียนค่ะ"
- "แล้วทำไมเที่ยวละลูก"
- "เพื่อนไป หนูเลยไปกับเพื่อน"
พ่อแม่เข้าใจที่ลูกสาวต้องการเข้ากลุ่มกับเพื่อน จึงยอมทำทุกอย่างไม่ว่าเพื่อนทำอะไร พอพ่อแม่เข้าใจ แหม่มเกิดกำลังใจ และบอกพ่อแม่ว่า แกจะไม่เที่ยว จะเรียนหนังสือ

"ถ้าพ่อแม่ว่าหนูคงเที่ยวเหมือนเคย แต่นี่พ่อแม่ถามหนูดี ๆ แล้วยังไม่โกรธ หนูเลยไม่อยากให้พ่อแม่ผิดหวัง" แหม่มให้สัญญาจริงจัง

"อาเดล เฟเบอร์" ผู้แต่งหนังสือรวมเรื่อง "How to talk So Kids Will Listen and Listen So Kids Will Talk " เน้นว่าให้พูดกับลูก เมื่อลูกอยากพูดอยากบอก โดยพ่อแม่ต้องใจเย็น ยอมรับสภาพของลูก ว่า ต้องการอะไร แล้วลูกกับคุณ จะพอทำความเข้าใจกันได้

ฟังอย่างตั้งใจ
อย่าลืมวัยรุ่นไม่ชอบให้พ่อแม่ไปยุ่งกับเรื่องของเขา ยกเว้นพ่อแม่จะทำบ้าน ให้อยากบอก อยากเล่า และเวลาวัยรุ่นเล่าอะไร ขอให้ฟังอย่างตั้งอกตั้งใจ ไม่แสดงอาการเบื่อหน่าย หรือรู้สึกว่า ไร้สาระ และจะให้ดีต้องมีเวลาให้วัยรุ่น จะเป็นช่วงไหนก็ได้ ที่แกมีเวลาพูดกับเราได้ เช่น ตอนกินข้าวเย็น หรือตอนนั่งรถไปโรงเรียน หรือกลับจากโรงเรียน หรือตอนนั่งดูโทรทัศน์ เป็นต้น

แค่กอดวัยรุ่นก็พอใจ
วัยรุ่นก็คือ เด็ก (ตัวโต) คนหนึ่ง เป็นการโตแค่ตัวแต่ใจยังโหยหาความเข้าใจและความรัก ความอบอุ่นจากผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่จึงต้องเข้าใจและคอยเอาใจใส่วัยรุ่นว่าแกมีปัญหาอะไร

บางครั้งดูแกรื่นเริง แต่อาจจะซ่อนเร้นความทุกข์ในใจ และไม่อยากบอกใคร แต่ในใจแกอาจทุกข์จนเหลือที่จะกล่าวออกมาเป็นคำพูดได้ หรือวัยรุ่นอาจซึมเศร้า ไม่พูดไม่จา ก็ไม่ได้แปลว่าแกไม่อยากพบใคร แกอาจอยากให้ใครกอด หรือแค่แตะไหล่ ลูบหลัง แกก็อาจพอใจ เพราะแค่ภาษาท่าทางอาจทำให้จิตใจสดชื่นได้

บางครั้งเราอยากได้ใครสักคนที่เข้าใจแม้จะไม่พูด แค่มองหน้า มองตากัน อย่างเห็นใจ เราก็สุขใจแล้ว

ด้วยเหตุนี้หากวัยรุ่นอยากอยู่เงียบ ๆ เพื่อสงบสติอารมณ์ พ่อแม่ควรปล่อยแก อย่าไปซักถาม เนื่องจากบางครั้งแกไม่พร้อมจะพูด ถ้าหากวัยรุ่นอยากได้รับความเห็นใจ อาจเข้ามาหาเรา แล้วกอดเราหรืออาจจะซบหน้าร้องไห้ พ่อแม่ควรกอดแก ถ้าแกอยากบอกแกจะบอก แต่ถ้าแกเฉยและไม่พูดอะไร เราได้แค่กอด ลูบหลัง ลูบไหล่ เป็นสัญลักษณ์ว่าพ่อกับแม่ จะอยู่เคียงข้างแกไม่ว่าจะทุกข์แค่ไหน แค่นี้วัยรุ่นจะรู้สึกอบอุ่น และมีชีวิตอยู่ต่อไปได้ แม้จะอัดอั้นตันใจ

เฟเบอร์เน้นว่า วัยรุ่นต้องการคนที่เข้าใจและช่วยเหลือได้ยามทุกข์ยามยาก อย่าลืมวัยรุ่นดูเป็นผู้ใหญ่ แต่ในใจยังเป็นเด็กที่ไม่รู้ว่าโลกที่แท้จริงเป็นอย่างไร เพราะแกมองทุกอย่างเป็นอุดมคติไปหมดทั้ง ๆ ที่ชีวิตจริงไม่ใช่อย่างที่เห็น

วัยรุ่นจึงอาจจะเจอคนที่ตัวคิดว่าดี พอคบกันนาน ๆ เข้า กลายเป็นคนไม่ดี หรือมาหลอกลวง ทำให้แกผิดหวัง บางครั้งถึงกับคิดฆ่าตัวตาย โดยเฉพาะคนที่คิดว่ารักตัวแล้วกลับไม่รัก วัยรุ่นจะคิดว่า ตัวเหมือนคนหลงในทะเลทราย ที่หาที่พักพิงไม่ได้

วัยรุ่นจึงเป็นวัยเปราะบาง หากพ่อแม่ไม่เข้าใจแกอาจเตลิดได้ เพราะวัยนี้ จะยึดเพื่อนเป็นหลัก มีอะไรก็บอกเพื่อน และจะบอกพ่อแม่เป็นคนสุดท้าย

"ไมเคิล รีวา" ผู้แต่ง "Uncommon Sense for Parents with Teengers" เน้นว่าก่อน 11 ปี มีอะไรบอกพ่อแม่ แต่พออายุเกินกว่านั้นจะเห็นเพื่อนสำคัญ ซึ่งพ่อแม่ไม่ต้องน้อยใจ ขอแค่เข้าใจ และพยายามเป็นที่พักพิงทางใจ และกาย เพื่อลูกจะได้ไม่เสียคนต่อไป


วัยรุ่น กับ การมีเพศสัมพันธ์

เพศสัมพันธ์ เพศสัมพันธ์ เพศสัมพันธ์ เป็นคำที่ต่างเพศต่างวัยต่างสถานการณ์ ฟังแล้วรู้สึกไปได้หลายแบบหลายอย่างจบแทบไม่น่าเชื่อ ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องธรรมชาติของคนเรา เป็นเรื่องที่คู่กับคนมาตั้งแต่มีคนเกิดขึ้นในโลกนี้คู่แรก จนขณะนี้คนก็สืบพันธุ์แพร่ขยาย จนพลเมืองโลกมีประมาณ 6 พันล้านแล้ว ทำไมเพศสัมพันธ์จึงยังเป็นอะไรที่ไม่เข้าที่เข้าทาง หรือทำไมคนทั้งโลกจำนวนไม่น้อยเลยยังไม่สามารถมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ให้เกิดปัญหากับตัวเอง ไม่ทำให้ตัวเองเดือดร้อน เป็นทุกข์ใจทุกข์กาย หรือเหตุใดคนจำนวนหนึ่งยังคงมีเพศสัมพันธ์อย่างไม่เหมาะสม คือไม่เพียงแต่จะทำความเดือดร้อนใจและกายอย่างแสนสาหัส เหมือนแต่โบราณมาเท่านั้น เพศสัมพันธ์ในปัจจุบันยังอาจนำไปสู่ความตายได้ เช่น ตายจากโรคเอดส์ ตายจากการฆ่ากันด้วยความแค้น ความหึงหวง ความตาย! ใครๆ ก็กลัว ใครๆ ก็ไม่อยากตาย ทุกคนจึงน่าจะหันมาสนใจเรื่องเพศสัมพันธ์ให้มากจะได้ไม่เดือดร้อน จะได้ไม่ต้องตายโดยไม่จำเป็น เพราะทุกชีวิตที่เกิดมาแล้วกว่าจะฝ่าฟันชีวิตจนโตพอที่จะมีเพศสัมพันธ์ได้ก็นับว่าเป็นชีวิตที่แสนจะมีค่า เราจึงต้องทะนุถนอมชีวิตและจิตใจของเราเอง เพื่อตัวเรา เพื่อคนที่เรารัก และเพื่อคนที่รักเราด้วยจึงน่าจะเป็นสิ่งที่ดีงามและสบายใจด้วยกันทั้งหมด

ผู้เขียนเป็นจิตแพทย์จึงมีโอกาสพบเห็นวัยรุ่นที่เดือดร้อนจากเรื่องเพศสัมพันธ์มาเล่าให้ฟัง เช่น วัยรุ่นหญิงคนหนึ่ง ซึ่งเรียนอยู่ ปวช.ปีสุดท้ายได้กินยาจำนวนมากเพื่อฆ่าตัวตายหนีปัญหาชีวิตเพราะเครียดจัดและมองไม่เห็นทางออกอย่างอื่น คงโชคดีสักนิดที่วิธีฆ่าตัวตายไม่รุนแรง แพทย์จึงช่วยชีวิตไว้ได้เพราะยาที่กินบังเอิญสามารถแก้ฤทธิ์ได้ แต่ยาบางชนิดที่กินโดยผู้พยายามฆ่าตัวตายบางคนแพทย์จะช่วยไม่ได้ ผู้เขียนจึงถูกตามเพื่อช่วยแก้ปัญหาของเด็กสาวผู้นี้ ไม่เช่นนั้นถ้าแพทย์ปล่อยให้เธอกลับบ้านทั้งๆ ที่ยังแบกปัญหาอยู่ เด็กสาวผู้นี้อาจกลับไปฆ่าตัวตายซ้ำอีกได้

จากการสัมภาษณ์พูดคุยพบว่า วัยรุ่นผู้นี้ท้องถึง 6 เดือนกว่าแล้ว แฟนหนุ่มซึ่งเป็นนักเรียนเช่นกันไม่ยอมรับรู้ใดๆ ทั้งสิ้น ทำตัวหายหน้าหายตาไปเลย หลบเลี่ยงไม่ยอมมาพบเจอทั้งสิ้น ฝ่ายหญิงก็พยายามหาทางออกโดยบุกบั่นไปถึงบ้านพ่อแม่ของแฟน หวังพึ่งผู้ใหญ่ให้ช่วยแก้ปัญหา แต่เธอกลับได้รับความช้ำใจยิ่งนักเพราะพ่อแม่แฟน กลับบอกว่าจะมั่นใจได้อย่างไรว่าเธอท้องกับลูกชายของเขา เธออาจไปท้องกับใครมาก็ได้แล้วจะมาให้ลูกชายเขารับเป็นพ่อ เธอจึงเสียใจมากที่ถูกดูถูกเหยียดหยาม ในที่สุดท้องก็โตขึ้นทุกวันไม่สามารถจะปิดบังได้อีกต่อไป จึงตัดสินใจนำเรื่องไปปรึกษาพ่อแม่ตัวเอง

พ่อแม่ของเธอก็เช่นกันไม่เป็นที่พึ่งได้กลับด่าว่าลูกสาวตัวเองมากมาย เช่น แม่ว่าส่งให้เรียนหนังสือทำไมใจง่ายไปเที่ยวนอนกับผู้ชายจนท้อง ไม่รักดี ใจง่าย โง่ ปล่อยให้ผู้ชายหลอก "ฟัน" เล่นๆ แล้วสลัดทิ้งแบบไม่ไยดี แบบไม่มีค่าอะไรเลย พร้อมบอกว่าพ่อแม่ไม่รู้จะแก้ปัญหาให้อย่างไร ผูกเองก็แก้เอง ถ้าปล่อยให้ท้องก็ไม่ต้องเรียนหนังสือต่อแล้ว พ่อแม่จะไม่ส่งเรียนต่อ ถ้าจะเรียนต่อต้องไม่ท้อง พ่อแม่เองก็ฐานะไม่ดีมาก เงินทองก็มีจำกัด ถ้าปล่อยให้ท้องต่อก็ไม่มีปัญญาจะเลี้ยงหลานให้ คือไม่ต้องการเด็กในท้องอย่างแน่นอน

วัยรุ่นสาวผู้นี้อายุยังไม่ครบยี่สิบปี ยังมีความอ่อนต่อโลกมากนัก เมื่อพบความเครียด ความทุกข์ ปัญหาหนักขนาดนี้ หันหน้าไปไหนก็ไม่มีใครช่วย แม้กระทั่งพ่อแม่ตัวเองก็ไม่ช่วย จึงรู้สึกสับสน เสียใจ ผิดหวังซ้ำซ้อน ไม่มีทางออกจึงคิดจบปัญหาด้วยความตายนั่นเอง เพราะจะไปทำแท้งก็ไม่มีเงินพอ อีกทั้งท้องก็มีอายุมากเกินกว่าจะทำแท้งได้แล้ว อันตรายเกินไป

จิตแพทย์ฟังแล้วสามารถเข้าใจถึงความกดดันที่เด็กสาววัยรุ่นผู้นี้ได้รับ จึงคิดปรึกษาหาทางออกด้วยกันว่าเธอไม่จำเป็นต้องทำลายชีวิตตัวเองและลูกเพื่อแก้ปัญหา เพราะมีมูลนิธิที่สังคมได้ตั้งขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือเรื่องแบบนี้โดยเฉพาะ เธอสามารถไปอาศัยอยู่ที่นั่นจนกระทั่งคลอดลูก แล้วทางมูลนิธิจะรับเลี้ยงลูกให้จนกระทั่งสามารถหาพ่อแม่ที่จะมารับไปเป็นลูกบุญธรรมต่อไป ส่วนตัวแม่เองหลังคลอดพักฟื้นแล้วก็สามารถกลับไปเรียนต่อจนจบได้ เรื่องจึงลงเอยได้ด้วยดีพอประมาณ แต่วัยรุ่นทุกคนที่มีเพศสัมพันธ์แบบไม่เหมาะสม อาจประสบชะตากรรมร้ายแรงกว่าคนนี้ เช่น พอพบว่าท้องก็ไปพยายามทำแท้งกับหมอเถื่อน ซึ่งมีโอกาสจะติดเชื้อโรคแล้วตายจากการติดเชื้อ ซึ่งพบอยู่เป็นประจำเพราะหมอเถื่อน เขาทำไม่ถูกต้องเครื่องมือก็สกปรก บางครั้งก็ทำมดลูกทะลุก็มี น่ากลัวจริงๆ

วัยรุ่นตัวอย่างที่หมอเล่าให้ฟังนี้ ไม่ใช่จะพ้นปัญหาไปอย่างไม่เหลืออะไรคิดค้างในใจ เพราะลึกๆ เขาอาจรู้สึกบาปที่ได้ทอดทิ้งลูกตัวเองไป อาจรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนไม่ดี ฉะนั้นในอนาคตถ้าชีวิตต้องเผชิญอะไรไม่ดีเธออาจคิดผูกโยงมากับเรื่องที่เกิดขึ้นได้ว่า เพราะเธอทำบาปไว้จึงต้องประสบชะตากรรมไม่ดี คิดในทำนองกรรมตามสนอง แม้ในการให้คำปรึกษา จิตแพทย์จะพยายามให้ความคิดเหล่านี้ไม่ตกค้างต่อไป เช่น พูดว่า ความผิดพลาดของชีวิตย่อมเกิดขึ้นได้ และการแก้ปัญหานั้นก็ดีที่สุดสำหรับทุกคน ที่เกี่ยวข้องแล้ว ลูกที่มีคนรับไปเลี้ยง เขาก็จะมีชีวิตที่ดีกว่า เพราะเราไม่พร้อมจะเลี้ยงเขา และเขาไม่เป็นที่ยอมรับของปู่ย่าตายายและพ่อของตัวเอง จึงน่าจะปล่อยเขาไปมีชีวิตที่ดีกว่ากับคนอื่นที่พร้อมกว่า กับคนที่ยอมรับเขาและรักเขา แม่ที่ยกลูกให้คนอื่นมักจะยังมีความทรงจำเรื่องนี้อยู่ ทำอย่างไรก็ไม่สามารถจะลืมเรื่องราวเหมือนกับมันไม่เคยเกิดขึ้นได้ แต่จะทำใจได้แค่ไหนนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ดังนั้นทางที่ดีที่สุดคืออย่าให้เกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นจะดีกว่ามาก จะได้ไม่มีตราบาปในใจไปตลอดชีวิต

เรื่องวัยรุ่นสาวท้องไม่มีพ่อ ท้องตอนเป็นนักเรียน หรือท้องโดยยังไม่ได้แต่งงาน ไม่ใช่เรื่องใหม่ มันเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าตั้งแต่หมอจำความได้ จนบัดนี้ทำงานมาหลายสิบปี เรื่องแบบนี้ก็ยังเกิดขึ้นตลอดเวลาในสังคม เกิดขึ้นจนพ่อแม่กลัว พ่อแม่บางคนกลัวมากไปพลอยทำให้ลูกสาวเดือดร้อน ขาดโอกาสในชีวิตไปเลยก็มี เช่น ญาติรุ่นพี่ของหมอคนหนึ่งอยู่ต่างจังหวัดซึ่งเป็นคนหัวดีเรียนเก่ง แต่พ่อแม่ไม่ยอมให้มาเรียนต่อกรุงเทพฯ ด้วยกลัวลูกสาวจะมาเสียคนเพราะห่างไกลพ่อแม่ เนื่องจากลูกสาวข้างบ้านมาเรียนที่กรุงเทพฯ แล้วก็มาท้องตอนเป็นนักเรียนนี่แหละที่ทำให้เขากลก้ว ญาติผู้นี้ของหมอเลยหมดโอกาสที่จะได้รับการศึกษาที่ดีเท่าที่ควร ต้องใช้ชีวิตของหญิงชาวบ้านที่จบประถม 4 คือต่อมาก็แต่งงานมีลูกเลี้ยงลูกไป ทำงานบ้านไป ชีวิตของเขาต้องขึ้นอยู่กับสามีและลูก ถ้าสามีและลูกดีชีวิตก็ดีไม่มีปัญหา ถ้าเจอสามีและลูกไม่ดีก็ต้องช้ำใจ ไม่มีทางเลือกอื่นเหลือไว้ให้มากนัก

คำถามจึงมีอยู่ว่า ทำไมเรื่องแบบนี้จึงเกิดแล้วเกิดอีก ป้องกันไม่ได้เลยหรือ เรื่องเพศเป็นเรื่องไม่ดีหรือไม่ใช่แน่ เรื่องเพศสัมพันธ์ก็เหมือนดาบสองคม ใช้เป็นจะดี ให้ความสุข ใช้ไม่เป็นจะเป็นทุกข์เหมือนโดนมีดบาด ดังนั้น เรื่องนี้คงเกิดจากความไม่เข้าใจ ความไม่รู้ การรู้ไม่เท่าทันโลกของทั้งวัยรุ่นชายและหญิง เพราะสังคมของเราไม่มีการเรียนรู้เรื่องเพศให้เป็นกิจจะลักษณะไม่มีการให้เพศศึกษาที่ถูกต้อง ให้เด็กโตขึ้นมาไปเรียนรู้เอาเองตามยถากรรม ผิดๆ ถูกๆ ตามเรื่องตามราว จึงเกิดเรื่องได้บ่อยๆ วัยรุ่นที่อยู่ห่างไกลสายตาพ่อแม่จึงมีโอกาสผิดพลาดสูงกว่าวัยรุ่นที่พ่อแม่คอยดูแลใกล้ชิด ซึ่งก็อาจใกล้ชิดจนวัยรุ่นอึดอัดจนอกจะแตกได้เช่นกัน

การให้ความรู้กับลูกเรื่องเพศจึงเป็นเรื่องสำคัญ ควรให้ตั้งแต่เด็กเลย (ขอเชิญผู้สนใจหาอ่านได้จากหนังสือของหมอชื่อ "เลี้ยงลูกถูกวิธีชีวีเป็นสุข" ในบท สอนลูกเรื่องเพศ) แต่ในที่นี้จะพูดเฉพาะในวัยรุ่น

ความต้องการทางเพศในวัยรุ่นนั้นมีมาก ทั้งนี้เป็นธรรมชาติของคนที่เป็นไปตามวัย โดยเฉพาะในวัยรุ่นชายจะเห็นได้อย่างชัดเจน จะเป็นช่วงที่มีความต้องการทางเพศสูงสุด ระหว่างแถวๆ อายุประมาณ 16-17 ปีเลยทีเดียว วัยรุ่นหญิงก็มีความต้องการเช่นกัน เช่น ถ้าดูภาพยนตร์ อ่านหนังสือที่พรรณนาบทพลอดรักหรือการร่วมเพศ หรือดูภาพโป๊ จะเกิดอารมณ์ทางเพศมากได้อย่างรวดเร็วรุนแรง วัยรุ่นที่มีความรู้จะสามารถปลดปล่อยอารมณ์ หรือสนองความต้องการเหล่านี้ได้อย่างถูกวิธี เช่น การสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง แต่ถ้าความต้องการไม่รุนแรง อาจทดแทนด้วยวิธีอื่นๆ เช่น เล่นกีฬา มีกิจกรรมอื่นๆ ได้ คนที่ไม่รู้อาจกลัวด้วยว่าการสำเร็จความใคร่จะเป็นอันตราย หรือคิดว่าเป็นเรื่องที่ไม่ดี ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับในวงการแพทย์มานานว่าเป็นเรื่องปกติ ใช้ได้ทั้งหญิงชาย แม้คนที่เป็นสามีภรรยากันแล้ว บางครั้งคู่ของตนไม่สามารถตอบสนองทางเพศได้ตามต้องการก็ยังสามารถสำเร็จความใคร่ได้ทั้งสามีและภรรยา เช่น เวลาความต้องการไม่ตรงกัน หรือสามีป่วย ภรรยาป่วย เป็นต้น มีข้อท้วงนิดหน่อยเกี่ยวกับการสำเร็จความใคร่ คือ ขอเพียงอย่าหมกมุ่นและกระทำบ่อยจนร่างกายอ่อนเพลีย เช่น กระทำวันละหลายๆ ครั้ง หรือเป็นสิบๆ ครั้งต่อวัน

ที่มา : http://www.love4home.com

Followers