Pages

Subscribe:

Monday, February 27, 2012

พัฒนาการวัยรุ่น Adolescent Development

นพ.  พนม  เกตุมาน
  
            วัยรุ่นเป็นวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นหลายด้าน  ทำให้ต้องมีการปรับตัวหลายด้านพร้อมๆกัน  จึงเป็นวัยที่จะเกิดปัญหาได้มาก  การปรับตัวได้สำเร็จจะช่วยให้วัยรุ่นพัฒนาตนเองเกิดบุคลิกภาพที่ดี  ซึ่งจะเป็นพื้นฐานสำคัญของการดำเนินชีวิตต่อไป  การเรียนรู้พัฒนาการวัยรุ่นจึงมีประโยชน์ทั้งต่อการส่งเสริมให้วัยรุ่นเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพดีทั้งทางร่างกายจิตใจสังคม  และช่วยป้องกันปัญหาต่างๆในวัยรุ่น  เช่น ปัญหาทางเพศ  หรือปัญหาการใช้สารเสพติด
  
พัฒนาการของวัยรุ่น

            วัยรุ่น จะเกิดขึ้นเมื่อเด็กย่างอายุประมาณ  12-13 ปี  เพศหญิงจะเข้าสู่วัยรุ่นเร็วกว่าเพศชายประมาณ 2 ปี และจะเกิดการพัฒนาไปจนถึงอายุประมาณ  18 ปี จึงจะเข้าสู่วัยผู้ใหญ่  โดยจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากในพัฒนาการด้านต่างๆ  ดังนี้

1.พัฒนาการทางร่างกาย ( Physical Development ) ประกอบด้วยการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายทั่วไป  และการเปลี่ยนแปลงทางเพศ   เนื่องจากวัยนี้ มีการสร้างและหลั่งฮอร์โมนเพศ(sex  hormones)  และฮอร์โมนของการเจริญเติบโต(growth hormone)อย่างมากและรวดเร็ว

    การเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย (physical  changes)   ร่างกายจะเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว แขนขาจะยาวขึ้นก่อนจะเห็นการเปลี่ยนแปลงอื่นประมาณ 2 ปี เพศหญิงจะไขมันมากกว่าชายที่มีกล้ามเนื้อมากกว่า  ทำให้เพศชายแข็งแรงกว่า

    การเปลี่ยนแปลงทางเพศ(sexual  changes)  สิ่งที่เห็นได้ชัดเจน  คือวัยรุ่นชายจะเป็นหนุ่มขึ้น  นมขึ้นพาน(หัวนมโตขึ้นเล็กน้อย  กดเจ็บ)  เสียงแตก  หนวดเคราขึ้น  และเริ่มมีฝันเปียก ( nocturnal ejaculation - การหลั่งน้ำอสุจิในขณะหลับและฝันเกี่ยวกับเรื่องทางเพศ)  การเกิดฝันเปียกครั้งแรกเป็นสัญญานของการเข้าสู่วัยรุ่นของเพศชาย  ส่วนวัยรุ่นหญิงจะเป็นสาวขึ้น  คือ เต้านมมีขนาดโตขึ้น  ไขมันที่เพิ่มขึ้นจะทำให้รูปร่างมีทรวดทรง  สะโพกผายออก  และเริ่มมีประจำเดือนครั้งแรก ( menarche)  การมีประจำเดือนครั้งแรก เป็นสัญญานบอกการเข้าสู่วัยรุ่นในหญิง

   ทั้งสองเพศจะมีการเปลี่ยนแปลงของอวัยวะเพศ  ซึ่งจะมีขนาดโตขึ้น และเปลี่ยนเป็นแบบผู้ใหญ่  มีขนขึ้นบริเวณอวัยวะเพศ  มีกลิ่นตัว  มีสิวขึ้น

2. พัฒนาการทางจิตใจ  (Psychological Development)

สติปัญญา(Intellectual Development)  วัยนี้สติปัญญาจะพัฒนาสูงขึ้น  จนมีความคิดเป็นแบบรูปธรรม (Jean Piaget  ใช้คำอธิบายว่า  Formal Operation  ซึ่งมีความหมายถึงความสามารถเรียนรู้  เข้าใจเหตุการณ์ต่างๆ  ได้ลึกซึ้งขึ้นแบบ abstract thinking)  มีความสามารถในการคิด  วิเคราะห์  และสังเคราะห์  สิ่งต่างๆได้มากขึ้นตามลำดับจนเมื่อพ้นวัยรุ่นแล้ว  จะมีความสามารถทางสติปัญญาได้เหมือนผู้ใหญ่  แต่ในช่วงระหว่างวัยรุ่นนี้  ยังอาจขาดความยั้งคิด  มีความหุนหันพลันแล่น  ขาดการไตร่ตรองให้รอบคอบ

ความคิดเกี่ยวกับตนเอง (Self Awareness)  วัยนี้จะเริ่มมีความสามารถในการรับรู้ตนเอง ด้านต่างๆ   ดังนี้

เอกลักษณ์ (identity) วัยรุ่นจะเริ่มแสดงออกถึงสิ่งตนเองชอบ  สิ่งที่ตนเองถนัด  ซึ่งจะแสดงถึงความเป็นตัวตนของเขาที่โดดเด่น  ได้แก่  วิชาที่เขาชอบเรียน  กีฬาที่ชอบเล่น  งานอดิเรก  การใช้เวลาว่างให้เกิดความเพลิดเพลิน   กลุ่มเพื่อนที่ชอบและสนิทสนมด้วย  โดยเขาจะเลือกคบคนที่มีส่วนคล้ายคลึงกัน  หรือเข้ากันได้   และจะเกิดการเรียนรู้และถ่ายทอดแบบอย่างจากกลุ่มเพื่อนนี้เอง  ทั้งแนวคิด  ค่านิยม  ระบบจริยธรรม  การแสดงออกและการแก้ปัญหาในชีวิต  จนสิ่งเหล่านี้กลายเป็นเอกลักษณ์ของตน  และกลายเป็นบุคลิกภาพนั่นเอง   สิ่งที่แสดงถึงเอกลักษณ์ตนเองยังมีอีกหลายด้าน  ได้แก่  เอกลักษณ์ทางเพศ(sexual  identity  and sexual orientation)  แฟชั่น  ดารา  นักร้อง  การแต่งกาย    ทางความเชื่อในศาสนา  อาชีพ  คติประจำใจ  เป้าหมายในการดำเนินชีวิต   ( Erik Erikson  อธิบายว่าวัยรุ่นจะเกิดเอกลักษณ์ของตนในวัยนี้  ถ้าไม่เกิดจะมีความสับสนในตนเอง Identity  VS  Role confusion )

ภาพลักษณ์ของตนเอง (self  image)  คือการมองภาพของตนเอง  ในด้านต่างๆ  ได้แก่   หน้าตา  รูปร่าง  ความสวยความหล่อ  ความพิการ  ข้อดีข้อด้อยทางร่างกายของตนเอง  วัยรุ่นจะสนใจหรือ  ให้เวลาเกี่ยวกับรูปร่าง  ผิวพรรณมากกว่าวัยอื่นๆ  ถ้าตัวมีข้อด้อยกว่าคนอื่นก็จะเกิดความอับอาย 

การได้รับการยอมรับจากผู้อื่น (acceptance)  วัยนี้ต้องการการยอมรับจากกลุ่มเพื่อนอย่างมาก  การได้รับการยอมรับจะช่วยให้เกิดความรู้สึกมั่นคง  ปลอดภัย  เห็นคุณค่าของตนเอง  มั่นใจตนเอง  วัยนี้จึงมักอยากเด่นอยากดัง อยากให้มีคนรู้จักมากๆ    

ความภาคภูมิใจตนเอง (self esteem) เกิดจากการที่ตนเองเป็นที่ยอมรับของเพื่อนและคนอื่นๆได้  รู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า  เป็นคนดีและมีประโยชน์แก่ผู้อื่นได้  ทำอะไรได้สำเร็จ

ความเป็นตัวของตัวเอง  (independent)  วัยนี้จะรักอิสระ  เสรีภาพ ไม่ค่อยชอบอยู่ในกฎเกณฑ์กติกาใดๆ  ชอบคิดเอง  ทำเอง  พึ่งตัวเอง  เชื่อความคิดตนเอง   มีปฏิกิริยาตอบโต้ผู้ใหญ่ที่บีบบังคับสูง    ความอยากรู้อยากเห็นอยากลองจะมีสูงสุดในวัยนี้  ทำให้อาจเกิดพฤติกรรมเสี่ยงได้ง่ายถ้าวัยรุ่นขาดการยั้งคิดที่ดี  การได้ทำอะไรด้วยตนเอง  และทำได้สำเร็จจะช่วยให้วัยรุ่นมีความมั่นใจในตนเอง (self  confidence)

การควบคุมตนเอง (self control) วัยนี้จะเรียนรู้ที่จะควบคุมความคิด  การรู้จักยั้งคิด การคิดให้เป็นระบบ  เพื่อให้สามารถใช้ความคิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ  และ อยู่ร่วมกับผู้อื่นได้
  
อารมณ์ (mood)   อารมณ์จะปั่นป่วน  เปลี่ยนแปลงง่าย  หงุดหงิดง่าย  เครียดง่าย  โกรธง่าย   อาจเกิดอารมณ์ซึมเศร้าโดยไม่มีสาเหตุได้ง่าย  อารมณ์ที่ไม่ดีเหล่านี้อาจทำให้เกิดพฤติกรรมเกเร  ก้าวร้าว   มีผลต่อการเรียนและการดำเนินชีวิต  ในวัยรุ่นตอนต้น  การควบคุมอารมณ์ยังไม่ค่อยดีนัก  บางครั้งยังทำอะไรตามอารมณ์ตัวเองอยู่บ้าง  แต่จะค่อยๆดีขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น  อารมณ์เพศวัยนี้จะมีมาก  ทำให้มีความสนใจเรื่องทางเพศ  หรือมีพฤติกรรมทางเพศ  เช่น  การสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง   ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติในวัยนี้  แต่พฤติกรรมบางอย่างอาจเป็นปัญหา  เช่น  เบี่ยงเบนทางเพศ กามวิปริต หรือการมีเพศสัมพันธ์ในวัยรุ่น
  
จริยธรรม (moral development) วัยนี้จะมีความคิดเชิงอุดมคติสูง(idealism)  เพราะเขาจะแยกแยะความผิดชอบชั่วดีได้แล้ว  มีระบบมโนธรรมของตนเอง   ต้องการให้เกิดความถูกต้อง  ความชอบธรรมในสังคม  ชอบช่วยเหลือผู้อื่น   ต้องการเป็นคนดี  เป็นที่ชื่นชอบของคนอื่น    และจะรู้สึกอึดอัดคับข้องใจกับความไม่ถูกต้องในสังคม  หรือในบ้าน  แม้แต่พ่อแม่ของตนเองเขาก็เริ่มรู้สึกว่าไม่ได้ดีสมบูรณ์แบบเหมือนเมื่อก่อนอีกต่อไปแล้ว  บางครั้งเขาจะแสดงออก  วิพากษ์วิจารณ์พ่อแม่หรือ ครูอาจารย์ตรงๆอย่างรุนแรง  การต่อต้าน ประท้วงจึงเกิดได้บ่อยในวัยนี้เมื่อวัยรุ่นเห็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง  หรือมีการเอาเปรียบ เบียดเบียน  ความไม่เสมอภาคกัน   ในวัยรุ่นตอนต้นการควบคุมตนเองอาจยังไม่ดีนัก  แต่เมื่อพ้นวัยรุ่นนี้ไป  การควบคุมตนเองจะดีขึ้น  จนเป็นระบบจริยธรรมที่สมบูรณ์เหมือนผู้ใหญ่
  
3.พัฒนาการทางสังคม (Social Development)

วัยนี้จะเริ่มห่างจากทางบ้าน  ไม่ค่อยสนิทสนมคลุกคลีกับพ่อแม่พี่น้องเหมือนเดิม  แต่จะสนใจเพื่อนมากกว่า  จะใช้เวลากับเพื่อนนานๆ     มีกิจกรรมนอกบ้านมาก   ไม่อยากไปไหนกับทางบ้าน   เริ่มมีความสนใจเพศตรงข้าม  สนใจสังคมสิ่งแวดล้อม  ปรับตัวเองให้เข้ากับกฎเกณฑ์กติกาของกลุ่ม  ของสังคมได้ดีขึ้น   มีความสามารถในทักษะสังคม  การสื่อสารเจรจา  การแก้ปัญหา  การประนีประนอม  การยืดหยุ่นโอนอ่อนผ่อนตามกัน  และการทำงานร่วมกับผู้อื่น  พัฒนาการทางสังคมที่ดีจะเป็นพื้นฐานมนุษยสัมพันธ์ที่ดี  และบุคลิกภาพที่ดี  การเรียนรู้สังคมจะช่วยให้ตนเองหาแนวทางการดำเนินชีวิตที่เหมาะกับตนเอง  เลือกวิชาชีพที่เหมาะกับตน  และมีสังคมสิ่งแวดล้อมที่ดีต่อตนเองในอนาคตต่อไป

  เป้าหมายของการพัฒนาวัยรุ่น

1.   ร่างกายที่แข็งแรง  ปราศจากความบกพร่องทางกาย  มีความสมบูรณ์  มีภูมิต้านทานโรคและปราศจากภาวะเสี่ยงต่อปัญหาทางกายต่างๆ

2.   เอกลักษณ์แห่งตนเองดี

·       บุคลิกภาพดี  มีทักษะส่วนตัว  และทักษะสังคมดี

·       เอกลักษณ์ทางเพศเหมาะสม

·       การเรียนและอาชีพ ได้ตามศักยภาพของตน  ตามความชอบความถนัด และความเป็นไปได้  ทำให้มีความพอใจต่อตนเอง

·       การดำเนินชีวิต  สอดคล้องกับความชอบความถนัด  มีการผ่อนคลาย  กีฬา  งานอดิเรก  มีความสุขได้โดยไม่เบียดเบียนคนอื่น  มีการช่วยเหลือคนอื่นและสิ่งแวดล้อม

·       มีมโนธรรมดี  เป็นคนดี
   
3.   มีการบริหารตนเองได้ดี  สามารถบริหารจัดการตนเอง โดยไม่ต้องพึ่งพาผู้อื่น

4.   มีความรับผิดชอบ   มีความรับผิดชอบทั้งต่อตนเอง  ต่อผู้อื่น  ต่อประเทศชาติ และต่อสิ่งแวดล้อมได้ดี

5.   มีมนุษยสัมพันธ์กับคนอื่นได้ดี
  
ปัญหาพฤติกรรมในวัยรุ่น

            ปัญหาที่พบได้บ่อยในวัยรุ่น  มีดังนี้

ปัญหาความสัมพันธ์กับพ่อแม่  วัยนี้จะแสดงพฤติกรรมที่แสดงความเป็นตัวของตัวเองค่อนข้างมาก การพูดจาไม่ค่อยเรียบร้อย  อารมณ์แปรปรวนเปลี่ยนแปลงง่าย  ความรับผิดชอบขึ้นๆลงๆ  เอาแต่ใจตัวเอง  ทำให้พ่อแม่  ผู้ปกครอง  หรือครูอาจารย์หงุดหงิดไม่พอใจได้มากๆ  ถ้าใช้วิธีการจัดการไม่ถูกต้อง  เช่น  ใช้วิธีดุด่าว่ากล่าว  ตำหนิ  หรือลงโทษรุนแรง  จะเกิดปฏิกิริยาต่อต้าน  เป็นอารมณ์ต่อกัน  ไม่ได้ช่วยเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมวัยรุ่น

วิธีการจัดการกับปัญหาพฤติกรรมเหล่านี้  เริ่มต้นจากการทำความเข้าใจความต้องการของวัยรุ่น  มีการตอบสนองโดยประนีประนอมยืดหยุ่น  แต่ก็ยังคงมีขอบเขตพอสมควร  พยายามจูงใจให้ร่วมมือมากกว่าการบังคับกันตรงๆหรือรุนแรง  สร้างความสัมพันธ์ที่ดีไว้ก่อน  อย่าหงุดหงิดกับพฤติกรรมเล็กๆน้อยๆ
  
ปัญหาการใช้สารเสพติด (substance use disorders) ตามธรรมชาติของวัยรุ่นจะมีความอยากรู้อยากเห็นอยากลองมาก  ถ้าขาดการยับยั้งชั่งใจด้วย  การที่อยู่ในกลุ่มที่ใช้สารเสพติด  หรือเพื่อนใช้สารเสพติด  จะมีการชักชวนให้ใช้ร่วมกัน  บางคนไม่กล้าปฏิเสธเพื่อน  บางคนใช้เพื่อให้เหมือนเพื่อนๆ  เมื่อลองแล้วเกิดความพอใจก็จะติดได้ง่าย

 ปัญหาทางเพศ(Sexual Problems)

พฤติกรรมรักร่วมเพศ (homosexualism) เป็นพฤติกรรมที่จะทำให้เกิดปํญหาตามมาได้มาก  คนที่เป็นรักร่วมเพศมักจะเจอปัญหาในการดำเนินชีวิตได้มากกว่าคนทั่วไป  ในบางสังคมมีการต่อต้านพฤติกรรมรักร่วมเพศ  มีการรังเกียจ  ล้อเลียน  ไม่ยอมรับ  บางประเทศมีกฎหมายลงโทษการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างเพศเดียวกันเอง

รักร่วมเพศ  คือพฤติกรรมที่พึงพอใจทางเพศกับเพศเดียวกัน  อาจมีการแสดงออกภายนอกให้เห็นชัดเจนหรือไม่ก็ได้

การรักษาผู้ที่เป็นรักร่วมเพศ  มักไม่ได้ผล  เนื่องจากผู้ที่เป็นรักร่วมเพศมักจะพอใจในลักษณะแบบนี้อยู่แล้ว  การช่วยเหลือทำได้โดยการให้คำปรึกษาผู้ที่เป็นพ่อแม่  และผู้ป่วย  เพื่อให้ปรับตัวได้   ไม่รังเกียจลูกที่เป็นแบบนี้  และผู้ป่วยแสดงออกเหมาะสม  ไม่มากเกินไปจนมีการรังเกียจต่อต้านจากคนใกล้ชิด

การป้องกันภาวะรักร่วมเพศ   ทำได้โดยการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่เพศเดียวกับเด็ก  เพื่อให้มีการถ่ายทอดแบบอย่างทางเพศจากพ่อหรือแม่เพศเดียวกับเด็ก
  
การสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง (masturbation) ในวัยรุ่นการสำเร็จความใคร่ด้วยตนเองเป็นพฤติกรรมปกติ  ไม่มีอันตราย  ไม่มีผลเสียต่อร่างกายหรือจิตใจ  การทำไม่ควรหมกมุ่นมากจนเป็นปัญหาต่อการใช้เวลาที่ควรทำ  หรือทำให้ขาดกิจกรรมที่เป็นประโยชน์อื่นๆ
  
การมีเพศสัมพันธ์ในวัยรุ่น (sexual relationship)  มักเกิดจากวัยรุ่นที่ขาดการยับยั้งชั่งใจ  หรือมีปัญหาทางอารมณ์  และใช้เพศสัมพันธ์เป็นการทดแทน  เพศสัมพันธ์ในวัยรุ่นมักไม่ได้ยั้งคิดให้รอบคอบ  ขาดการไตร่ตรอง  ทำตามอารมณ์เพศ  หรืออยู่ภายใต้ฤทธิ์ของสารเสพติด  ทำให้เกิดปัญหาการติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์    การตั้งครรภ์   การทำแท้ง  การเลี้ยงลูกที่ไม่ถูกต้อง  ปัญหาครอบครัว  และกลายเป็นปัญหาสังคมในที่สุด
  
ปัญหาบุคลิกภาพ (personality problems)  วัยรุ่นจะเป็นวัยที่มีพัฒนาการของบุคลิกภาพอย่างชัดเจน  ทั้งนิสัยใจคอ  การคิด  การกระทำ  จะเป็นรูปแบบที่สม่ำเสมอ  จนสามารถคาดการณ์ได้ว่าในเหตุการณ์แบบนี้  เขาจะแสดงออกอย่างไร  ถ้าการเรียนรู้ที่ผ่านมาดี  วัยรุ่นจะมีบุคลิกภาพดีด้วย  แต่ในทางตรงข้าม  ถ้ามีปัญหาในชีวิต  หรือเรียนรู้แบบผิดๆ  จะกลายเป็นบุคลิกภาพที่เป็นปัญหา  ปรับตัวเข้ากับคนอื่นได้น้อย  เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง  และจะติดตัวไปตลอดชีวิต   ถ้าเป็นปัญหามากๆเรียกว่าบุคลิกภาพผิดปกติ (personality disorders)
  
ความประพฤติผิดปกติ  (conduct disorder)  คือ โรคที่มีปัญหาพฤติกรรมกลุ่มที่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน  โดยตนเองพอใจ  ได้แก่  การละเมิดสิทธิผู้อื่น  การขโมย  ฉ้อโกง ตีชิงวิ่งราว   ทำร้ายผู้อื่น  ทำลายข้าวของ  เกเร  หรือละเมิดกฎเกณฑ์ของหมู่คณะหรือสังคม   การหนีเรียน  ไม่กลับบ้าน  หนีเที่ยว  โกหก  หลอกลวง  ล่วงเกินทางเพศ  การใช้สารเสพติด  อาการดังกล่าวนี้มักจะเกิดขึ้นต่อเนื่องมานานพอสมควร  สัมพันธ์กันปัญหาในครอบครัว   การเลี้ยงดู  ปัญหาอารมณ์

            การรักษาควรรีบทำทันที  เพราะการปล่อยไว้นาน  จะยิ่งเรื้อรังรักษายาก  และกลายเป็นบุคลิกภาพแบบอันธพาล (antisocial personality disorder)
  
การป้องกันปัญหาวัยรุ่น

1.   การเลี้ยงดูอย่างถูกต้อง  ให้ความรักความอบอุ่น

2.   การฝึกให้รู้จักระเบียบวินัย  การควบคุมตัวเอง

3.   การฝึกทักษะชีวิต  ให้แก้ไขปัญหาได้ถูกต้อง  มีทักษะในการปฏิเสธสิ่งที่ไม่ถูกต้อง

4.   การสอนให้เด็กรู้จักคบเพื่อน  ทักษะสังคมดี

5.   การฝึกให้เด็กมีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง

                                                                                                                                                                ที่มา : http://www.psyclin.co.th

1 comments:

Followers