Pages

Subscribe:

Friday, February 24, 2012

บทความสำหรับพ่อแม่

บทความสำหรับพ่อแม่
พัฒนาการทางด้านสังคมจิตวิทยาของวัยรุ่นPsychosocial Development in Adolescent )
โดย : นพ. วิโรจน์ อารีย์กุล วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า

วัยรุ่นเป็นวัยช่วงต่อระหว่างวัยเด็กและวัยผู้ใหญ่เป็นช่วงระยะเวลาที่มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านการเจริญเติบโตทางด้านร่างกาย ลักษณะที่บ่งบอกถึงความเป็นหนุ่มสาว ขณะเดียวกันพัฒนาการทางด้านอารมณ์ สังคมและจิตใจก็เปลี่ยนแปลงไปด้วยแต่เป็นไปในลักษณะที่ไม่ค่อยสอดคล้องหรือเหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงด้านร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดความสับสน ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง ขาดความยับยั้งชั่งใจ ขาดประสบการณ์ ทำให้วัยรุ่นตัดสินใจกระทำหรือมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมโดยไม่ได้คำนึงถึงผลเสียที่เกิดขึ้นตามมาจากการกระทำของตน และช่วงวัยรุ่นถือว่าเป็นช่วงระยะเวลาที่มีปัญหาทางด้านจิตสังคม อารมณ์และพฤติกรรมเสี่ยงมากกว่าช่วงอายุอื่นๆ
 (1) ทำให้มีผลกระทบต่อสุขภาพทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
วัยรุ่นเป็นระยะของการเปลี่ยนแปลงพัฒนาการทางด้านสรีระของร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และสังคมไปพร้อมๆ กัน ซึ่งพัฒนาการบางอย่างได้ดำเนินการมาก่อนบ้างแล้วในช่วงระยะก่อนวัยรุ่นและกระบวนการพัฒนาการในด้านต่างๆ ยังมีการดำเนินการต่อไป ถึงแม้จะมีการเจริญเติบโตทางด้านร่างกายเต็มที่แล้ว
 (2) ขบวนการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการต่างๆ โดยเฉพาะพัฒนาการทางด้านสังคมจิตวิทยาของวัยรุ่น มีลักษณะเฉพาะที่เราควรจะต้องคำนึงถึง คือ
1. ไม่มีการพัฒนาการหรือการเปลี่ยนแปลงอะไรที่ดีที่สุดหรือมีแผนเฉพาะหรือเหมาะสมสำหรับวัยรุ่นทุกคน เพราะวัยรุ่นแต่ละคนในแต่ละชุมชน สังคม เชื้อชาติต่าง ๆ ก็มีความหลากหลาย แตกต่างกันไปไม่ว่าจะเป็นทางด้านพื้นฐานทางด้านสิ่งแวดล้อม สังคม วัฒนธรรมและค่านิยมต่าง ๆ
2. การเปลี่ยนแปลงทางด้านสรีระวิทยา อารมณ์ และพัฒนาการในด้านต่างๆ ไม่สอดคล้องหรือไปด้วยกัน จะเห็นได้ชัดเจนว่าในปัจจุบันนี้การเจริญเติบโตทางด้านร่างกาย การเข้าสู่การเป็นหนุ่มสาว เร็วกว่าในอดีตที่ผ่านมา ขณะที่พัฒนาการทางด้านความคิดและการตัดสินใจอย่างมีเหตุผลแบบผู้ใหญ่ต้องใช้เวลา ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในวัยรุ่นช่วงปลาย ( อายุ 18-21 ปี ) หรือหลังจากนี้
 (3) จึงจะมีการพัฒนาการในด้านนี้ได้สมบูรณ์มีการคิดและการตัดสินใจอย่างมีเหตุผลทำให้วัยรุ่นถูกมองจากภายนอกว่าเป็นผู้ใหญ่แต่การกระทำหรือการแสดงออกยังเป็นแบบเด็กๆ อยู่
3. วัยรุ่นเป็นช่วงระยะเวลาที่ไม่มั่นคง มีความอ่อนไหวทางด้านจิตใจและอารมณ์ค่อนข้างมาก จนมีผู้ให้วัยรุ่นเป็นช่วงระยะเวลาที่เรียกว่า Normal Psychosis ถึงแม้จะมีผันผวนหรือมีความผิดปกติบ้างในบางโอกาส แต่วัยรุ่นส่วนใหญ่ก็สามารถแก้ไขปัญหาผ่านพ้นภาวะวิกฤตต่างๆ ในระยะวัยรุ่นไปได้โดยไม่มีปัญหาใดๆ
(2) ในการที่เราจะใช้หลักเกณฑ์อะไรอย่างใดอย่างหนึ่งเพียงอย่างเดียวในการที่จะบอกว่าเด็กเข้าสู่วัยรุ่นแล้วนั้น บางครั้งก็อาจจะไม่ถูกต้องเหมาะสมทั้งหมด ตัวอย่างเช่น เราใช้อายุเป็นตัวกำหนด แต่ในปัจจุบันก็จะเห็นว่าเด็กเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เร็วกว่าเดิมโดยเฉพาะเด็กผู้หญิงและมีพฤติกรรมทางเพศเร็วขึ้น จากการศึกษานักศึกษาชายไทยในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคพบว่าเคยมีเพศสัมพันธ์ถึงร้อยละ 33-68.5 และนักศึกษาหญิงเคยมีเพศสัมพันธ์ถึงร้อยละ 4.2-25.4
 (4) หรือใช้การเจริญเติบโต การเปลี่ยนแปลงของร่างกายเมื่อเข้าวัยหนุ่มสาว ก็คงจะไม่ถูกต้องทั้งหมดเพราะเด็กยังมีพัฒนาทางด้านความคิด การตัดสินใจเป็นแบบเด็กอยู่ ฉะนั้นเราควรจะได้ใช้ตัวบ่งชี้หลายๆ อย่าง มาใช้ประกอบร่วมกัน ไม่ว่าอายุ การเจริญเติบโต การเปลี่ยนแปลงของร่างกาย เมื่อเข้าวัยหนุ่มสาว และพัฒนาการทางด้านต่างๆ เช่น อารมณ์ จิตสังคม ฯลฯ ก็จะทำให้เราเข้าใจและประเมินบอกได้ว่าเขาเข้าสู่วัยรุ่นระยะไหนได้เหมาะสมถูกต้องมากขึ้น เพราะในการให้การดูแลและให้คำปรึกษาแก่เด็กวัยรุ่นนั้นถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ต้องมีการปรับรูปแบบและวิธีการให้เหมาะสมกับการเจริญเติบโต การพัฒนาการในด้านต่างๆ รวมถึงวุฒิภาวะของวัยรุ่นด้วย
ปัจจุบัน สังคม สิ่งแวดล้อม สื่อต่างๆ เข้ามามีบทบาทต่อการพัฒนาการทางด้านสังคมจิตวิทยาของวัยรุ่นอย่างมาก โดยเฉพาะสื่อ นักวิชาการบางคนให้ความสำคัญและมีบทบาทมากกว่ากลุ่มเพื่อน ที่เรียกว่า Super Peer สื่อเป็นตัวกลางสำคัญที่ให้ข้อมูลข่าวสารแก่เด็กและวัยรุ่น โดยเฉพาะเด็กที่อายุต่ำกว่า 8 ปี ไม่สามารถแยกเรื่องจริงออกจากเรื่องสมมติได้
(5) เด็กยังขาดเหตุผล ทำให้เขามีพฤติกรรมเรียนแบบ ระยะวัยรุ่นการพัฒนาการทางด้านอารมณ์ จิตใจ และพฤติกรรมต่างๆ มีความสำคัญมากกว่าการเจริญเติบโต การเปลี่ยนแปลงของร่างกายและอวัยวะต่างๆ เนื่องจากปัญหาของวัยรุ่นส่วนใหญ่เป็นปัญหาทางด้านอารมณ์ จิตใจ และพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ ซึ่งจะนำไปสู่การเจ็บป่วยและสาเหตุการตายของวัยรุ่นที่สำคัญ
พัฒนาการทางด้านสังคมจิตวิทยา ในวัยรุ่น แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ดังนี้
1. ระยะวัยรุ่นตอนต้น อายุประมาณ 10 – 13 ปี
2. ระยะวัยรุ่นตอนกลาง อายุประมาณ 14 – 17 ปี
3. ระยะวัยรุ่นตอนปลาย อายุประมาณ 17 – 21 ปี
การเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาการในด้านต่าง ๆ ในช่วงระยะวัยรุ่นเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เป็นปรากฎการณ์ธรรมชาติที่เด็กทุกคนเมื่อจะเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่จะต้องผ่านขบวนการต่างๆ เหล่านี้ ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญและต้องเรียนรู้ ฉะนั้นตัววัยรุ่นเองรวมถึงพ่อแม่ ผู้ปกครอง บุคลากรต่างๆ รวมทั้งแพทย์ที่ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับวัยรุ่นควรจะได้มีความเข้าใจในสิ่งต่างๆ เหล่านี้ ตัวอย่างเช่น ในด้านการเจริญเติบโตทางด้านร่างกายของเด็กจะมีกลุ่มเด็กที่มีการเจริญเติบโตเร็วและกลุ่มที่มีการเจริญเติบโตช้า แต่ในที่สุดทั้ง 2 กลุ่มก็จะสามารถเจริญเติบโตได้ทันกันในที่สุด
(6) แต่จะเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนเต็มตามศักยภาพหรือไม่คงจะขึ้นกับปัจจัยอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น พันธุกรรม การเลี้ยงดู ภาวะโภชนาการ ปัญหาสุขภาพของร่างกาย สังคมและสิ่งแวดล้อมต่างๆ ฯลฯ

ระยะวัยรุ่นช่วงต้น
เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย มีการเจริญเติบโตมีการเพิ่มขนาดความสูง น้ำหนัก ขณะเดียวกันก็มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านสรีระวิทยาเป็นวัยหนุ่มสาว เข้าสู่วัยเจริญพันธ์ ซึ่งในปัจจุบันจะพบว่าทั้งเด็กผู้ชายและเด็กผู้หญิงจะมีอายุเข้าสู่วัยหนุ่มสาวเร็วมากขึ้น โดยเฉพาะในเด็กผู้หญิงที่ค่อนข้างสมบูรณ์และอ้วนจะมีประจำเดือนตั้งแต่อายุ 8-9 ปี ลักษณะภายนอกที่เราสามารถตรวจพบเห็นเป็นอันดับแรกเมื่อเข้าสู่วัยรุ่นของเด็กผู้หญิงคือ การเริ่มมีหน้าอก ที่เรียกว่า Breast bud ในเด็กผู้ชายคือลูกอัณฑะที่มีขนาดใหญ่มากขึ้น โดยปกติทั่วไปเด็กผู้หญิงจะเข้าสู่วัยรุ่นเร็วกว่าเด็กผู้ชายเฉลี่ยประมาณ 2 ปี
(6) เด็กเมื่อเข้าวัยรุ่นจะมีความกังวลและสงสัยในเรื่องเหล่านี้ค่อนข้างมาก สงสัยว่าสิ่งที่ตัวเองเป็นปกติเหมือนคนอื่นหรือไม่และมักจะเอาไปเปรียบเทียบกับเพื่อนๆ สงสัยเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกาย อวัยวะต่างๆ รวมถึงความรู้สึก อารมณ์ที่เกี่ยวกับเรื่องเพศ ความเป็นหนุ่มสาว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการมีประจำเดือน เต้านม ความรู้สึกทางเพศ การแข็งตัวของอวัยวะเพศ การสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง ขนาดและลักษณะของอวัยวะสืบพันธุ์ทั้ง 2 เพศ บางครั้งเราจะเห็นว่าเด็กสนใจแอบดูหนังสือหรือเวบต์ไซด์ลามกต่างๆ โดยไม่ให้พ่อแม่รู้เนื่องจากสังคมไทยส่วนใหญ่ยังมองเรื่องเพศเป็นสิ่งที่ปกปิด เรื่องลับ ยังมองเรื่องเพศไปในทางลบซึ่งในความเป็นจริงเพศเป็นเรื่องของธรรมชาติ เป็นสิ่งที่เด็กเมื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ต้องมีการเรียนรู้แลพัฒนาการในเรื่องเพศอย่างถูกต้องเหมาะสม ในระยะวัยรุ่นช่วงต้นวัยรุ่นบางคนอาจจะมีประสบการณ์ทางเพศและมีเพศสัมพันธ์เกิดขึ้นในช่วงนี้แต่พบได้เป็นส่วนน้อย

เมื่อเด็กเริ่มเข้าวัยรุ่นจะให้ความสนใจกับกิจกรรมในครอบครัวหรือเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ กับพ่อแม่น้อยลงและเริ่มจะไม่ค่อยยอมรับคำแนะนำและคำติชมจากพ่อแม่ พ่อแม่มักจะพบว่าเด็กที่เคยน่ารัก เชื่อฟัง เริ่มต่อต้านและฝ่าฝืนคำสั่งบ้าง แต่ไม่รุนแรงมากนักซึ่งเป็นลักษณะของการพัฒนาการอย่างหนึ่งของวัยรุ่นที่พยายามจะเป็นอิสระ ความเป็นตัวของตัวเองมากยิ่งขึ้น แต่ในความเป็นจริงลึกๆ วัยรุ่นยังไม่มั่นใจในตัวเองยังต้องการความช่วยเหลือสนับสนุนจากพ่อแม่อยู่ ขณะเดียวกันในช่วงนี้เด็กเริ่มมีสังคมกว้างขวางขึ้น เรียนรู้โลกมากขึ้น มีเพื่อน กลุ่มเพื่อนจะเข้ามามีบทบาท กลุ่มเพื่อนส่วนใหญ่จะเป็นเพื่อนเพศเดียวกัน กลุ่มเพื่อนจะช่วยทำให้วัยรุ่นเกิดความมั่นใจในเรื่องที่วิตกกังวลต่างๆ มากขึ้น เพราะกลุ่มเพื่อนมีลักษณะต่างๆ ที่เหมือนๆ กัน วัยรุ่นช่วงนี้จะให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนค่อนข้างมาก มีการให้คำมั่นสัญญาและสาบานร่วมกันเกิดความรู้สึกมีอารมณ์ร่วมและลึกซึ้ง รักเพื่อนมาก กิจกรรมร่วมกับเพศตรงข้ามมักจะทำเป็นลักษณะกลุ่มหญิง กลุ่มชาย
วัยรุ่นช่วงต้นมีอารมณ์และพฤติกรรมแปรปรวนอ่อนไหวง่าย หงุดหงิด ยังมีความรู้สึกที่ยึดตัวเองเป็นหลัก ( Self - centered ) และยังมีความคิดเป็นแบบ Concrete though เป็นส่วนใหญ่ ไม่สามารถควบคุมอารมณ์และพฤติกรรมของตัวเองได้ ไม่สามารถเข้าใจหรือมองเห็นผลที่จะเกิดขึ้นตามมาในอนาคตซึ่งเป็นผลจากการกระทำหรือพฤติกรรมในปัจจุบัน เป็นอันหนึ่งนำไปสู่การมีพฤติกรรมเสี่ยงหรือทดลองทำพฤติกรรมต่างๆ ที่ไม่เหมาะสม วัยรุ่นช่วงต้นจะเริ่มพัฒนาการมีค่านิยมที่เป็นของตัวเอง ต้องการความเป็นส่วนตัว พ่อแม่ควรได้เปิดโอกาสให้เด็กมีสถานที่อาจจะเป็นมุมใดมุมหนึ่งของห้องหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของบ้านหรือมีห้องเฉพาะให้เป็นที่เฉพาะส่วนตัวของเขา และไม่ไปก้าวก่ายโดยไม่จำเป็น แต่คอยสังเกตการณ์อยู่ห่างๆ เด็กช่วงนี้จะมีความคิดที่ค่อนข้างเพ้อฝันเกินความเป็นจริง มีการวางแผนในอนาคตหรือเป้าหมายชีวิตที่เกินความสามารถของตนเอง เช่น นักบินอวกาศ นักวิทยาศาสตร์ระดับโลก นักร้องชื่อดัง และมักจะคิดว่าตนเองสำคัญและคนอื่นๆ ให้ความสนใจตนเอง แต่ในขณะเดียวกันก็มีความรู้สึกว่าตนเองโดดเดี่ยว ไม่มีใครให้ความสนใจในตนเองเลย ปัญหาของตนเองไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือน ดูเหมือนไม่มีใครจะเข้าใจและช่วยเหลือแก้ไขปัญหาของตนเองได้


ระยะวัยรุ่นช่วงกลาง 
เป็นช่วงระยะเวลาที่อัตราการเจริญเติบโตและการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ของร่างกายและอวัยวะต่างๆ เริ่มลดลง การเจริญเติบโตของร่างกายและความเป็นหนุ่มสาวมีความสมบูรณ์เกือบเท่าผู้ใหญ่ ความตื้นเต้น วิตกกังวล สงสัย ต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวลงน้อยลง มีความพร้อมทางด้านร่างกายเข้าสู่ระยะการเจริญพันธุ์ ระยะช่วงนี้วัยรุ่นส่วนใหญ่พอใจและยอมรับในการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้น ขณะเดียวกันก็สนใจให้เวลาในการดูแลตนเอง รูปร่าง หน้าตา ให้ดูสวยงามสร้างความสนใจให้กับผู้พบเห็น จะเห็นว่าวัยรุ่นสนใจการแต่งเนื้อแต่งตัว โดยบทบาทของเพื่อนก็จะยังเข้ามามีบทบาทในเรื่องดังกล่าวค่อนข้างมาก เด็กวัยรุ่นมักจะแต่งตัวแปลกๆ และเหมือนกับกลุ่มเพื่อนให้ได้รับการยอมรับความสนใจและการยอมรับจากกลุ่ม
ระยะวัยรุ่นช่วงกลางเป็นช่วงระยะเวลาที่มีความรุนแรงทางด้านอารมณ์และความรู้สึกต่างๆ ค่อนข้างมาก บทบาทค่านิยมของเพื่อนจะเป็นสิ่งสำคัญและมีบทบาทต่อเด็กวัยรุ่นช่วงนี้และวัยรุ่นจะใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่กับเพื่อน ทำกิจกรรมกับกลุ่มเพื่อน มีเพื่อนที่สนิท ขณะเดียวกันก็เป็นช่วงระยะเวลาที่มีความขัดแย้งกับผู้ปกครอง พ่อแม่ มากที่สุด จะให้ความสนใจและเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ของครอบครัวพ่อแม่ลดน้อยลง เนื่องจากต้องการเป็นอิสระและเป็นตัวของตัวเอง มีการฝ่าฝืนกฎระเบียบ กติกาต่างๆ มากขึ้น เนื่องจากต้องการทดลองเรียนรู้ ทดสอบว่าตนเองทำได้หรือไม่ ไม่ชอบให้ใครมาบังคับหรือสั่งการ เด็กเริ่มเรียนรู้สังคมภายนอกครอบครัวมากขึ้น เริ่มมีกิจกรรมและมีความสัมพันธ์กับเพศตรงข้ามมากยิ่งขึ้น เด็กอาจจะเริ่มมีเพื่อนหญิงหรือเพื่อนชาย เริ่มมีความสัมพันธ์แบบคู่รัก แต่ยังเป็นความรักแบบรักตัวเองมากกว่าที่จะเป็นไปในลักษณะของความสัมพันธ์ลึกซึ้ง ความรับผิดชอบ มีการนัดหมายไปทานอาหาร ดูหนัง มอบสิ่งของให้แก่กันเนื่องในโอกาสต่างๆ เพื่อให้ได้รับการยอมรับจากกลุ่มเพื่อน ดูเท่ห์ หรูหรา วัยรุ่นบางคนการมีความสัมพันธ์ใกล้ชิด จนนำไปสู่การมีความสัมพันธ์แบบชู้สาวและมีเพศสัมพันธ์ ขณะเดียวกันวัยรุ่นช่วงนี้เป็นช่วงระยะเวลาที่มีความอยากรู้อยากทดลองในเรื่องเพศมากเป็นพื้นฐานเดิมเนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านสรีระ ฮอร์โมนเพศ ทำให้มีความพร้อมในอารมณ์และกิจกรรมทางเพศ ทำให้วัยรุ่นช่วงนี้มีการเรียนรู้และทดลองกิจกรรมในเรื่องเพศสัมพันธ์มากขึ้น ซึ่งถ้าไม่ได้รับการแนะนำหรือปฏิบัติตัวอย่างเหมาะสมอาจจะนำไปสู่ปัญหาทางด้านสังคมและสุขภาพต่างๆ ตามมา เช่น การตั้งครรภ์ในวัยหนุ่มสาว การติดต่อโรคทางเพศสัมพันธ์ ต้องออกจากสถาบันการศึกษา ฯลฯ


ความรู้สึกอ่อนไหวและโรแมนติกเป็นสิ่งที่พบได้มากในวัยรุ่นช่วงนี้ ทำให้วัยรุ่นจะหมกหมุ่นและหลงไหล ชอบบรรยากาศที่สุนทรีย์ รวมถึงการฟังเพลงต่างๆ จะมีผลต่อวัยรุ่นเป็นอย่างมาก ซึ่งมีผู้ทำการศึกษาพบว่าบทเพลงต่างๆ
(5) ก็จะมีผลกระทบต่อพฤติกรรมและการแสดงออกของวัยรุ่น พวกเพลง Hard Rock จะกระตุ้นให้มีความสึกหึกเหิม ก้าวร้าว ในวัยรุ่นช่วงกลางถึงแม้จะมีความคิด มีเหตุผลมากกว่าเดิมแต่เมื่อพบปัญหาหรือสภาวะวิกฤตต่างๆ ความคิด การแก้ไขปัญหาต่างๆ หรือการพัฒนาการในด้านต่างๆ ก็จะถดถอยไปเหมือนในระยะวัยรุ่นช่วงต้นได้ ดังเราจะเห็นได้ชัดกรณีวัยรุ่นกลุ่มอาชีวะศึกษายกพวกตีกัน เนื่องจากความไม่พอใจเพื่อนต่างสถาบัน การแก้ปัญหาโดยไม่คำนึงถึงความถูกต้อง ยึดติดอยู่กับกลุ่มเพื่อน เพื่อนในช่วงระยะวัยรุ่นช่วงกลางมีความสำคัญและมีบทบาทต่อเพื่อนด้วยกันมาก เพื่อนเข้ามามีส่วนร่วมในชีวิตประจำวันมากยิ่งขึ้น ต้องการความยอมรับจากเพื่อนๆ เป็นเหตุให้วัยรุ่นมักมีกิจกรรม การกระทำต่างๆ เช่น การแต่งตัว การแสดงออก และพฤติกรรมต่างๆ ไปในแนวเดียวกัน โดยบางครั้งไม่ได้คำนึงถึงความถูกต้องเหมาะสม เพียงแต่ต้องการยอมรับจากเพื่อนๆ ในกลุ่มเดียวกันถ้าได้เพื่อนดี ชักชวนกันทำกิจกรรมต่างๆ ในทางสร้างสรรค์ เด็กวัยรุ่นก็จะมีพฤติกรรมเสี่ยงต่อปัญหาต่างๆ ค่อนข้างน้อย แต่ในทางตรงกันข้ามถ้ามีเพื่อนกลุ่มเกเร ไม่รับผิดชอบ ไม่สนใจการเรียน มีพฤติกรรมก้าวร้าว ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ ก็จะชักนำให้เพื่อนกลุ่มเดียวกันมีพฤติกรรมเสี่ยงและปัญหาต่างๆ ตามมา นักวิชาการได้กล่าวไว้น่าสนใจว่า ผู้ปกครองมักจะโทษกลุ่มเพื่อนว่าชักชวนให้บุตรหลานของเราไปมีพฤติกรรมหรือการกระทำที่ไม่เหมาะสมนั้น อาจจะไม่ถูกต้องทั้งหมดเพราะเขาเชื่อว่าบุตรหลานของเราต่างหาก ที่เป็นคนที่จะเลือกคบเพื่อนตามพื้นฐานความชอบหรือนิสัยที่เขามีอยู่เดิม คือ เขาเป็นคนเลือกคบเพื่อนตามแบบที่เขาชอบและพอใจ แล้วไปปฏิบัติตัวตามเพื่อนเพื่อให้กลุ่มเพื่อนยอมรับ วัยรุ่นช่วงนี้จะมีกลุ่มเพื่อนทำกิจกรรมต่างๆ เช่น ชมรมกีฬา ดนตรี วิชาการ ศาสนา อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ฯลฯ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นและควรสนับสนุนให้วัยรุ่นได้เข้าไปมีส่วนร่วม เพราะนอกจากกระตุ้นให้วัยรุ่นรู้จักใช้เวลาทำกิจกรรมต่างๆ ยังส่งเสริมให้รู้จักการอยู่ร่วมทำกิจกรรมกับผู้อื่น เสียสละ เข้าใจสังคมภายนอกมากขึ้น และยังสร้างเสริมให้เกิดความภาคภูมิใจในตนเอง เห็นคุณค่าของตัวเองมากขึ้น

ความคิด ความสามารถ ทักษะต่างๆ ตลอดจนความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ มีเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงนี้จึงเป็นช่วงที่สำคัญที่พยายามเปิดโอกาสให้วัยรุ่นแสดงความสามารถ การแสดงออกอย่างสร้างสรรค์ ก็จะเกิดประโยชน์ต่อวัยรุ่นอย่างมาก วัยรุ่นช่วงนี้จะมีความคิดอยู่ในกรอบของความเป็นจริง มีเหตุผล รู้ขอบเขตความสามารถและข้อจำกัดของตนเอง ทำให้ความคิดเพ้อฝันหรือการวางแผนชีวิตในอนาคต อยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริงและเป็นไปได้ ซึ่งในกลุ่มเด็กที่มีเชาว์ปัญญาอยู่ในเกณฑ์เฉลี่ยปานกลางหรือต่ำกว่าปกติบางครั้งอาจจะทำให้เกิดความรู้สึกหรือมีประสบการณ์ที่รู้สึกท้อแท้ ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง บางคนอาจจะมีภาวะซึมเศร้าได้ ความรู้สึกที่คิดเข้าข้างตนเอง คิดว่าตนเองแน่กว่าคนอื่นๆ หลายสิ่งหลายอย่างที่เกิดขึ้นกับคนอื่นๆ นั้นจะไม่เกิดขึ้นกับตนเอง ตัวเองแน่ ตัวเองไม่ตายและไม่เหมือนใคร อันนำไปสู่พฤติกรรมเสี่ยงหรือทดลองการกระทำในสิ่งต่างๆ ที่ตนเองรู้ว่าไม่ดีหรือมีผลเสีย แต่ด้วยความเชื่อมั่นที่ผิดๆ ว่าสิ่งต่างๆ หรือผลที่จะเกิดตามมาจะไม่เกิดขึ้นกับตน ทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา เช่น อุบัติเหตุ ซึ่งการขับขี่มอเตอร์ไซด์เป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งของวัยรุ่น การใช้สารเสพติด เหล้า บุหรี่ ยาบ้า การตั้งครรภ์ การติดต่อโรคทางเพศสัมพันธ์ โรคเอดส์ ฯลฯ ซึ่งเป็นปัญหาการเจ็บป่วยและการตายที่สำคัญในช่วงระยะวัยรุ่น


ระยะวัยรุ่นช่วงปลาย
วัยรุ่นช่วงนี้การเจริญเติบโต การเปลี่ยนแปลงของร่างกายมีความสมบูรณ์ เป็นผู้ใหญ่เต็มที่แล้ว มีความพร้อมทางด้านการเจริญพันธ์สมบูรณ์ทั้งเพศหญิงและเพศชาย มั่นใจและพอใจลักษณะรูปลักษณ์ของตนเอง ไม่รู้สึกมีปมด้อย นอกจากบางคนที่มีความพิการหรือมีความผิดปกติ วัยรุ่นช่วงปลายเป็นช่วงระยะเวลาที่รู้สึกอิสระเป็นตัวของตัวเอง จากความรู้สึกที่จะต้องพึ่งพาพ่อแม่หรืออยู่ใต้การบังคับบัญชาของผู้ปกครอง ความขัดแย้งในช่วงวัยรุ่นช่วงกลางจึงกลับเปลี่ยนแปลงเป็นความเข้าใจถึงความรักความหวังดี ความเอื้ออาทรที่พ่อแม่มีต่อตัววัยรุ่นยอมรับฟังข้อคิดเห็นข้อเสนอแนะต่างๆ จากพ่อแม่ กลับมาให้ความสำคัญและเห็นคุณค่าของพ่อแม่ที่มีต่อตัววัยรุ่นเพิ่มมากขึ้น

ขณะเดียวกันก็ให้ข้อคิดเห็นข้อเสนอแนะคำปรึกษาและสร้างความสัมพันธ์กับพ่อแม่ในแบบลักษณะแบบผู้ใหญ่กับผู้ใหญ่มากกว่าที่จะเป็นแบบพ่อแม่กับลูก เหมือนในช่วงระยะวัยรุ่นช่วงต้นๆ แต่วัยรุ่นบางคนที่มีพัฒนาการในช่วงระยะต้น และระยะกลาง ไม่สามารถที่จะดำเนินมาได้อย่างราบรื่น เกิดความสับสน อาจมีความรู้สึกไม่มั่นใจในตัวเองที่จะแยกออกมาเป็นอิสระ รับผิดชอบตัวเองแบบเต็มตัว บางครั้งเกิดปัญหาต่างๆ ตามมาได้ ที่บางครั้งเรียกว่า “Crisis of 21 ” ซึ่งอาจจะมีภาวะซึมเศร้า พยายามฆ่าตัวตายหรือปัญหาทางด้านอารมณ์ วัยรุ่นช่วงปลายจะมีความคิด การตัดสินใจ อย่างมีเหตุผล มีความอดทนและความยับยั้งชั่งใจมากขึ้น มีการประณีประนอม รู้ขอบเขตและข้อจำกัดของตนเอง ในสังคมต่างประเทศแถบตะวันตกวัยรุ่นตอนปลายมักจะแยกมาอยู่ต่างหาก รับผิดชอบตัวเอง แต่ในประเทศไทยเรา ยังไม่ชัดเจนนัก เนื่องจากวัฒนธรรมทางด้านสังคมและวิถีชีวิตของคนไทยแตกต่างจากชาวตะวันตก แต่อย่างไรก็ตามวัยรุ่นไทยในปัจจุบันเนื่องจากระบบการศึกษาทำให้วัยรุ่นต้องไปศึกษาในสถานศึกษาที่ห่างไกล ต้องไปรับผิดชอบตัวเองมากขึ้น แต่ยังคงต้องอาศัยความช่วยเหลือทางด้านการเงินจากผู้ปกครอง แต่วัยรุ่นบางกลุ่มก็ทำงานมีรายได้เป็นของตนเองและรับผิดชอบการศึกษาด้วยตนเอง เพื่อนและกลุ่มเพื่อนที่มีบทบาทและมีความสำคัญกับวัยรุ่นในช่วงต้นและช่วงกลางมาก ในช่วงปลายจะไม่ค่อยมีความสำคัญกับวัยรุ่น เนื่องจากวัยรุ่นช่วงปลายจะมีความรู้สึกนึกคิดและค่านิยมที่เป็นของตัวเองแล้วเป็นส่วนใหญ่ ยกเว้นบางคนส่วนน้อยที่ยังไม่สามารถค้นหาหรือมีเอกลักษณ์เป็นตัวของตัวเอง ซึ่งกลุ่มนี้อาจจะต้องรอเวลาไปอีกสักระยะหนึ่ง จะมีเพื่อนสนิทรู้ใจซึ่งเป็นตัวบุคคลมากกว่าเป็นกลุ่มเพื่อน

การมีคู่รัก การมีเพศสัมพันธ์ ในวัยรุ่นช่วงปลาย จะมีความรับผิดชอบจริงใจ เห็นอกเห็นใจ ให้เกียรติแก่ฝ่ายตรงข้ามรับผิดชอบร่วมกัน การมีเพศสัมพันธ์ อย่างรับผิดชอบ เข้าใจยอมรับ มีการวางแผน คำนึงถึงวัฒนธรรม ค่านิยมทางสังคมมากกว่าความรู้สึกหรือความต้องการทางเพศเพียงอย่างเดียว บางคนอาจจะมีแผนชีวิตในการสร้างครอบครัว แต่งงานกับคนใดคนหนึ่งที่ตนรัก ไม่ใช่เพียงแต่ความต้องการทางอารมณ์เพศหรือทดลองสนุกสนาน วัยรุ่นช่วงปลายเป็นช่วงระยะเวลาที่สำคัญที่วัยรุ่นสามารถเข้าใจและปลูกฝังในเรื่องที่เป็นนามธรรมได้ดี
 (7) เช่น คุณธรรม จริยธรรม ศาสนา ค่านิยมทางสังคม ค่านิยมเรื่องเพศ เด็กได้มีพัฒนาการในด้านนี้มาตั้งแต่เด็ก จนถึงช่วงอายุ 6-12 ปี เป็นระยะพัฒนาการของ Superego ซึ่งเด็กมีพัฒนาการในเรื่องนี้ แต่เด็กไม่ได้เข้าใจ หรือเห็นดีเห็นงามด้วยความรู้สึกจริงๆ ของเด็ก
 (8) มีการวางแผนชีวิตในอนาคตอยู่ในขอบเขตของความเป็นจริงและความสามารถของตัวเอง มีความเข้าใจตัวเองมากขึ้น กลับมามีความสัมพันธ์ที่ดีกับพ่อแม่ คนในครอบครัว ในวัยรุ่นในช่วงปลายจะมีความเข้าใจและยอมรับถึงผลกระทบต่อสุขภาพที่จะเกิดขึ้นในอนาคต อันเป็นผลจากการกระทำหรือพฤติกรรมในปัจจุบันทำให้เกิดการยอมรับและแก้ไขพฤติกรรมเสี่ยงต่าง ๆ ที่ไม่เหมาะสมได้ง่ายมากขึ้น
การพัฒนาการทางด้านจิตสังคมของวัยรุ่นในช่วงต่างๆ มีความแตกต่างกันแต่จะมีความต่อเนื่องเกี่ยวข้องกัน การกำหนดโดยใช้ช่วงอายุดังกล่าวเพื่อใช้เป็นกรอบและแนวคิดเท่านั้น เมื่อนำไปปฏิบัติจริงๆ จะเห็นว่าวัยรุ่นบางคนก็มีการพัฒนาการในด้านต่างๆ ก้าวหน้ากว่าอายุจริงและขณะที่บางคนอาจจะมีความล่าช้าในบางเรื่อง ทั้งนี้เพราะว่าพัฒนาการในด้านต่าง ๆ ของวัยรุ่นในสังคมต่างๆ ในแต่ละช่วงอายุมีความหลากหลายและแตกต่างกันไปบ้าง ทั้งนี้คงจะไม่สามารถชี้ชัดลงไปได้เลยว่าอะไรถูกผิด เพราะมีปัจจัยอื่นๆ ที่เข้ามามีส่วนในการเรียนรู้ต่อการเปลี่ยนแปลงความก้าวหน้าทางด้านพัฒนาการในด้านต่างๆ คงจะต้องคำนึงถึงปัจจัยอื่นๆ ร่วมด้วยก่อนที่จะตัดสินว่าเหมาะสมถูกต้องหรือไม่ แต่อย่างไรก็ตามสิ่งที่รวบรวมมานำเสนอเป็นสิ่งที่วัยรุ่นส่วนใหญ่มีการพัฒนาการทางด้านสังคมจิตวิทยาในช่วงอายุต่างๆ มีลักษณะดังกล่าวข้างต้น สิ่งที่น่าสนใจคือการเจริญเติบโตและการพัฒนาการในด้านต่างๆ ของวัยรุ่นเกิดขึ้นอย่างมากและรวดเร็วในระยะเวลาสั้นๆ ซึ่งเป็นช่วงระยะเวลาที่วัยรุ่นจะต้องมีการปรับตัวมีการเรียนรู้ ฝึกทักษะ ในด้านต่างๆ ค่อนข้างมาก จึงเป็นช่วงระยะเวลาที่สำคัญที่บุคลากรทางการแพทย์ ผู้ปกครอง ตลอดจนตัววัยรุ่น ควรได้รับทราบ ให้ความสนใจได้รับการดูแลเอาใจใส่ อีกช่วงระยะเวลาหนึ่งนอกจากในวัยเด็ก ที่จะประคับประคองให้เด็กสามารถผ่านระยะวัยรุ่น ซึ่งถือว่าเป็นระยะเวลาธรรมชาติมรสุมของชีวิตไปได้อย่างปลอดภัยเพื่อเป็นผู้ใหญ่ที่ดีและมีคุณ ภาพ

                                                                    ข้อมลูจาก http://www.teenrama.com/dad_mam/old_dad_mam24.htm

No comments:

Post a Comment

Followers