Pages

Subscribe:

Friday, February 24, 2012

เทคนิคการเป็นเพื่อนกับวัยรุ่น


วัยรุ่นเป็นวัยที่ต่างไปจากพ่อแม่ ตอนพ่อแม่เป็นวัยรุ่น รอบตัวยังไม่มีอะไร ที่ทำให้เสียคน ได้มากเท่ากับทุกวันนี้ พ่อแม่ถึงได้งงที่ลูกทำอะไรแปลกไปจากที่หวัง พ่อแม่ถามก็ว่าจู้จี้ ไม่พอใจ พอพ่อแม่ไม่ถามก็หาว่าไม่ใส่ใจ พ่อแม่เลยทำตัวไม่ถูก วิธีง่าย ๆ คือฟังกันบ้าง การฟังนี้ไม่จำเป็นต้องพูดก็ได้ แค่ทำก็น่าจะพอแล้ว เช่น เล่นฟุตบอลกับลูกชาย ตีแบดมินตันกับลูกสาว ดูโทรทัศน์ด้วยกัน ฯลฯ อย่าลืมว่าวัยรุ่นเป็นวัยที่เริ่มเป็นตัวของตัวเอง ร่างกายจิตใจเริ่มเปลี่ยนแปลง ผู้ใหญ่ชอบมองว่าวัยรุ่นเป็นวัยที่พูดไม่รู้เรื่อง ทั้ง ๆ ที่วัยรุ่นเองก็งงกับตัวเอง ยังไม่ชินและปรับตัวฉับพลันยาก จึงอยากได้พ่อแม่เข้าใจ

"ฟิลลิปส์ ออสบอนด์" ผู้แต่งหนังสือ "Parenting for the 90's" กล่าวว่า การได้อยู่กับลูกจะเป็นหนทางให้พูดคุยกันได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องในบ้านหรือนอกบ้าน

"รอน แทฟเพล" นักจิตวิทยาและผู้แต่งหนังสือ "Parenting by Hearts" กล่าวว่า การเข้าใจลูกไม่จำเป็นต้องเผชิญหน้ากันก็ได้ แค่อยู่ด้วยกัน กินข้าวด้วยกัน กลับบ้านด้วยกันก็พอมีทางเข้าใจกันได้ เพราะช่วงนั้น การพูดจากัน อาจจะง่ายกว่าพูดกันแบบเป็นทางการ และวัยรุ่นจะรู้สึกว่า เราเป็นเพื่อนมากกว่าผู้คุม

ข้อควรปฏิบัติในการเป็นเพื่อนกับวัยรุ่น

อย่าทะเลาะเบาะแว้งต่อหน้าลูก
พ่อแม่อย่าเลี้ยงลูกแบบคนละทาง เช่น แม่พูดอย่าง พ่อพูดอีกอย่าง เด็กจะสับสน และหากคนไหนใหญ่ เด็กจะเชื่อคนนั้น ถ้าพ่อตามใจ แม่ไม่เอาด้วย เด็กอาจต้านในใจ หรืออยากเอาชนะได้ โดยเฉพาะทำตัวเป็นพวกกับคนไหนก็ได้ที่คิดว่าพอพึ่งได้
ทางที่ดีพ่อแม่ต้องรักสามัคคี ในการอบรมลูก อย่าขัดกันเอง หรือมีเรื่องก็ตกลงกันให้ได้ ลูกจะได้เห็นว่าปัญหาเกิดขึ้นได้ ก็มีทางออกได้ หากลูกมีปัญหาจะได้มีกำลังใจแก้ไข หรือแก้ไขไม่ได้ จะได้มาหาพ่อแม่เพื่อช่วยเหลือ
หากพ่อแม่ทะเลาะกันเอง ลูกคงหมดกำลังใจจะขอความช่วยเหลือ ยิ่งประเภททะเลาะกันต่อหน้าลูกลูกยิ่งหมดความเชื่อถือเพราะมีความรู้สึกว่า ทำไมพ่อแม่พูดกันไม่รู้เรื่อง แล้วจะพูดกับแกรู้เรื่องได้อย่างไร พ่อแม่จึงต้อง แสดงให้ลูกเห็นว่าพ่อแม่รักสามัคคีกัน

อย่าบังคับแต่ให้คำแนะนำ
วัยรุ่นจะต้านถ้าสั่ง แต่ถ้าแกถามอะไร เราน่าจะถามว่าแกคิดอย่างไร เพื่อให้แกมีโอกาสพูด ระบายความในใจโดยไม่ขัดคอ เราจะได้ดูท่าทีว่า วัยรุ่นคิดอย่างไร เป็นการฟังก่อนและค่อยพูด เมื่อแกพร้อมจะฟัง และถ้าให้วัยรุ่นรู้จักทางออกเอง จะทำให้แกอยู่ในโลกได้อย่างมีเหตุผลและแข็งแกร่งขึ้น

เช่น เด็กหญิงแหม่มไม่เรียนหนังสือแต่ไปเที่ยวตามศูนย์การค้า พอพ่อแม่รู้เข้า ก็เลยเรียกแหม่มมาคุย ซึ่งแหม่มตกใจในตอนแรกก็จริงแต่เมื่อเห็นพ่อแม่ถามด้วยดี แกมั่นใจว่าแกพูดความจริงได้
- "ลูกอายุแค่ 13 ปี ควรเรียนหรือควรเที่ยว"
- "เรียนค่ะ"
- "แล้วทำไมเที่ยวละลูก"
- "เพื่อนไป หนูเลยไปกับเพื่อน"
พ่อแม่เข้าใจที่ลูกสาวต้องการเข้ากลุ่มกับเพื่อน จึงยอมทำทุกอย่างไม่ว่าเพื่อนทำอะไร พอพ่อแม่เข้าใจ แหม่มเกิดกำลังใจ และบอกพ่อแม่ว่า แกจะไม่เที่ยว จะเรียนหนังสือ

"ถ้าพ่อแม่ว่าหนูคงเที่ยวเหมือนเคย แต่นี่พ่อแม่ถามหนูดี ๆ แล้วยังไม่โกรธ หนูเลยไม่อยากให้พ่อแม่ผิดหวัง" แหม่มให้สัญญาจริงจัง

"อาเดล เฟเบอร์" ผู้แต่งหนังสือรวมเรื่อง "How to talk So Kids Will Listen and Listen So Kids Will Talk " เน้นว่าให้พูดกับลูก เมื่อลูกอยากพูดอยากบอก โดยพ่อแม่ต้องใจเย็น ยอมรับสภาพของลูก ว่า ต้องการอะไร แล้วลูกกับคุณ จะพอทำความเข้าใจกันได้

ฟังอย่างตั้งใจ
อย่าลืมวัยรุ่นไม่ชอบให้พ่อแม่ไปยุ่งกับเรื่องของเขา ยกเว้นพ่อแม่จะทำบ้าน ให้อยากบอก อยากเล่า และเวลาวัยรุ่นเล่าอะไร ขอให้ฟังอย่างตั้งอกตั้งใจ ไม่แสดงอาการเบื่อหน่าย หรือรู้สึกว่า ไร้สาระ และจะให้ดีต้องมีเวลาให้วัยรุ่น จะเป็นช่วงไหนก็ได้ ที่แกมีเวลาพูดกับเราได้ เช่น ตอนกินข้าวเย็น หรือตอนนั่งรถไปโรงเรียน หรือกลับจากโรงเรียน หรือตอนนั่งดูโทรทัศน์ เป็นต้น

แค่กอดวัยรุ่นก็พอใจ
วัยรุ่นก็คือ เด็ก (ตัวโต) คนหนึ่ง เป็นการโตแค่ตัวแต่ใจยังโหยหาความเข้าใจและความรัก ความอบอุ่นจากผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่จึงต้องเข้าใจและคอยเอาใจใส่วัยรุ่นว่าแกมีปัญหาอะไร

บางครั้งดูแกรื่นเริง แต่อาจจะซ่อนเร้นความทุกข์ในใจ และไม่อยากบอกใคร แต่ในใจแกอาจทุกข์จนเหลือที่จะกล่าวออกมาเป็นคำพูดได้ หรือวัยรุ่นอาจซึมเศร้า ไม่พูดไม่จา ก็ไม่ได้แปลว่าแกไม่อยากพบใคร แกอาจอยากให้ใครกอด หรือแค่แตะไหล่ ลูบหลัง แกก็อาจพอใจ เพราะแค่ภาษาท่าทางอาจทำให้จิตใจสดชื่นได้

บางครั้งเราอยากได้ใครสักคนที่เข้าใจแม้จะไม่พูด แค่มองหน้า มองตากัน อย่างเห็นใจ เราก็สุขใจแล้ว

ด้วยเหตุนี้หากวัยรุ่นอยากอยู่เงียบ ๆ เพื่อสงบสติอารมณ์ พ่อแม่ควรปล่อยแก อย่าไปซักถาม เนื่องจากบางครั้งแกไม่พร้อมจะพูด ถ้าหากวัยรุ่นอยากได้รับความเห็นใจ อาจเข้ามาหาเรา แล้วกอดเราหรืออาจจะซบหน้าร้องไห้ พ่อแม่ควรกอดแก ถ้าแกอยากบอกแกจะบอก แต่ถ้าแกเฉยและไม่พูดอะไร เราได้แค่กอด ลูบหลัง ลูบไหล่ เป็นสัญลักษณ์ว่าพ่อกับแม่ จะอยู่เคียงข้างแกไม่ว่าจะทุกข์แค่ไหน แค่นี้วัยรุ่นจะรู้สึกอบอุ่น และมีชีวิตอยู่ต่อไปได้ แม้จะอัดอั้นตันใจ

เฟเบอร์เน้นว่า วัยรุ่นต้องการคนที่เข้าใจและช่วยเหลือได้ยามทุกข์ยามยาก อย่าลืมวัยรุ่นดูเป็นผู้ใหญ่ แต่ในใจยังเป็นเด็กที่ไม่รู้ว่าโลกที่แท้จริงเป็นอย่างไร เพราะแกมองทุกอย่างเป็นอุดมคติไปหมดทั้ง ๆ ที่ชีวิตจริงไม่ใช่อย่างที่เห็น

วัยรุ่นจึงอาจจะเจอคนที่ตัวคิดว่าดี พอคบกันนาน ๆ เข้า กลายเป็นคนไม่ดี หรือมาหลอกลวง ทำให้แกผิดหวัง บางครั้งถึงกับคิดฆ่าตัวตาย โดยเฉพาะคนที่คิดว่ารักตัวแล้วกลับไม่รัก วัยรุ่นจะคิดว่า ตัวเหมือนคนหลงในทะเลทราย ที่หาที่พักพิงไม่ได้

วัยรุ่นจึงเป็นวัยเปราะบาง หากพ่อแม่ไม่เข้าใจแกอาจเตลิดได้ เพราะวัยนี้ จะยึดเพื่อนเป็นหลัก มีอะไรก็บอกเพื่อน และจะบอกพ่อแม่เป็นคนสุดท้าย

"ไมเคิล รีวา" ผู้แต่ง "Uncommon Sense for Parents with Teengers" เน้นว่าก่อน 11 ปี มีอะไรบอกพ่อแม่ แต่พออายุเกินกว่านั้นจะเห็นเพื่อนสำคัญ ซึ่งพ่อแม่ไม่ต้องน้อยใจ ขอแค่เข้าใจ และพยายามเป็นที่พักพิงทางใจ และกาย เพื่อลูกจะได้ไม่เสียคนต่อไป


วัยรุ่น กับ การมีเพศสัมพันธ์

เพศสัมพันธ์ เพศสัมพันธ์ เพศสัมพันธ์ เป็นคำที่ต่างเพศต่างวัยต่างสถานการณ์ ฟังแล้วรู้สึกไปได้หลายแบบหลายอย่างจบแทบไม่น่าเชื่อ ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องธรรมชาติของคนเรา เป็นเรื่องที่คู่กับคนมาตั้งแต่มีคนเกิดขึ้นในโลกนี้คู่แรก จนขณะนี้คนก็สืบพันธุ์แพร่ขยาย จนพลเมืองโลกมีประมาณ 6 พันล้านแล้ว ทำไมเพศสัมพันธ์จึงยังเป็นอะไรที่ไม่เข้าที่เข้าทาง หรือทำไมคนทั้งโลกจำนวนไม่น้อยเลยยังไม่สามารถมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ให้เกิดปัญหากับตัวเอง ไม่ทำให้ตัวเองเดือดร้อน เป็นทุกข์ใจทุกข์กาย หรือเหตุใดคนจำนวนหนึ่งยังคงมีเพศสัมพันธ์อย่างไม่เหมาะสม คือไม่เพียงแต่จะทำความเดือดร้อนใจและกายอย่างแสนสาหัส เหมือนแต่โบราณมาเท่านั้น เพศสัมพันธ์ในปัจจุบันยังอาจนำไปสู่ความตายได้ เช่น ตายจากโรคเอดส์ ตายจากการฆ่ากันด้วยความแค้น ความหึงหวง ความตาย! ใครๆ ก็กลัว ใครๆ ก็ไม่อยากตาย ทุกคนจึงน่าจะหันมาสนใจเรื่องเพศสัมพันธ์ให้มากจะได้ไม่เดือดร้อน จะได้ไม่ต้องตายโดยไม่จำเป็น เพราะทุกชีวิตที่เกิดมาแล้วกว่าจะฝ่าฟันชีวิตจนโตพอที่จะมีเพศสัมพันธ์ได้ก็นับว่าเป็นชีวิตที่แสนจะมีค่า เราจึงต้องทะนุถนอมชีวิตและจิตใจของเราเอง เพื่อตัวเรา เพื่อคนที่เรารัก และเพื่อคนที่รักเราด้วยจึงน่าจะเป็นสิ่งที่ดีงามและสบายใจด้วยกันทั้งหมด

ผู้เขียนเป็นจิตแพทย์จึงมีโอกาสพบเห็นวัยรุ่นที่เดือดร้อนจากเรื่องเพศสัมพันธ์มาเล่าให้ฟัง เช่น วัยรุ่นหญิงคนหนึ่ง ซึ่งเรียนอยู่ ปวช.ปีสุดท้ายได้กินยาจำนวนมากเพื่อฆ่าตัวตายหนีปัญหาชีวิตเพราะเครียดจัดและมองไม่เห็นทางออกอย่างอื่น คงโชคดีสักนิดที่วิธีฆ่าตัวตายไม่รุนแรง แพทย์จึงช่วยชีวิตไว้ได้เพราะยาที่กินบังเอิญสามารถแก้ฤทธิ์ได้ แต่ยาบางชนิดที่กินโดยผู้พยายามฆ่าตัวตายบางคนแพทย์จะช่วยไม่ได้ ผู้เขียนจึงถูกตามเพื่อช่วยแก้ปัญหาของเด็กสาวผู้นี้ ไม่เช่นนั้นถ้าแพทย์ปล่อยให้เธอกลับบ้านทั้งๆ ที่ยังแบกปัญหาอยู่ เด็กสาวผู้นี้อาจกลับไปฆ่าตัวตายซ้ำอีกได้

จากการสัมภาษณ์พูดคุยพบว่า วัยรุ่นผู้นี้ท้องถึง 6 เดือนกว่าแล้ว แฟนหนุ่มซึ่งเป็นนักเรียนเช่นกันไม่ยอมรับรู้ใดๆ ทั้งสิ้น ทำตัวหายหน้าหายตาไปเลย หลบเลี่ยงไม่ยอมมาพบเจอทั้งสิ้น ฝ่ายหญิงก็พยายามหาทางออกโดยบุกบั่นไปถึงบ้านพ่อแม่ของแฟน หวังพึ่งผู้ใหญ่ให้ช่วยแก้ปัญหา แต่เธอกลับได้รับความช้ำใจยิ่งนักเพราะพ่อแม่แฟน กลับบอกว่าจะมั่นใจได้อย่างไรว่าเธอท้องกับลูกชายของเขา เธออาจไปท้องกับใครมาก็ได้แล้วจะมาให้ลูกชายเขารับเป็นพ่อ เธอจึงเสียใจมากที่ถูกดูถูกเหยียดหยาม ในที่สุดท้องก็โตขึ้นทุกวันไม่สามารถจะปิดบังได้อีกต่อไป จึงตัดสินใจนำเรื่องไปปรึกษาพ่อแม่ตัวเอง

พ่อแม่ของเธอก็เช่นกันไม่เป็นที่พึ่งได้กลับด่าว่าลูกสาวตัวเองมากมาย เช่น แม่ว่าส่งให้เรียนหนังสือทำไมใจง่ายไปเที่ยวนอนกับผู้ชายจนท้อง ไม่รักดี ใจง่าย โง่ ปล่อยให้ผู้ชายหลอก "ฟัน" เล่นๆ แล้วสลัดทิ้งแบบไม่ไยดี แบบไม่มีค่าอะไรเลย พร้อมบอกว่าพ่อแม่ไม่รู้จะแก้ปัญหาให้อย่างไร ผูกเองก็แก้เอง ถ้าปล่อยให้ท้องก็ไม่ต้องเรียนหนังสือต่อแล้ว พ่อแม่จะไม่ส่งเรียนต่อ ถ้าจะเรียนต่อต้องไม่ท้อง พ่อแม่เองก็ฐานะไม่ดีมาก เงินทองก็มีจำกัด ถ้าปล่อยให้ท้องต่อก็ไม่มีปัญญาจะเลี้ยงหลานให้ คือไม่ต้องการเด็กในท้องอย่างแน่นอน

วัยรุ่นสาวผู้นี้อายุยังไม่ครบยี่สิบปี ยังมีความอ่อนต่อโลกมากนัก เมื่อพบความเครียด ความทุกข์ ปัญหาหนักขนาดนี้ หันหน้าไปไหนก็ไม่มีใครช่วย แม้กระทั่งพ่อแม่ตัวเองก็ไม่ช่วย จึงรู้สึกสับสน เสียใจ ผิดหวังซ้ำซ้อน ไม่มีทางออกจึงคิดจบปัญหาด้วยความตายนั่นเอง เพราะจะไปทำแท้งก็ไม่มีเงินพอ อีกทั้งท้องก็มีอายุมากเกินกว่าจะทำแท้งได้แล้ว อันตรายเกินไป

จิตแพทย์ฟังแล้วสามารถเข้าใจถึงความกดดันที่เด็กสาววัยรุ่นผู้นี้ได้รับ จึงคิดปรึกษาหาทางออกด้วยกันว่าเธอไม่จำเป็นต้องทำลายชีวิตตัวเองและลูกเพื่อแก้ปัญหา เพราะมีมูลนิธิที่สังคมได้ตั้งขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือเรื่องแบบนี้โดยเฉพาะ เธอสามารถไปอาศัยอยู่ที่นั่นจนกระทั่งคลอดลูก แล้วทางมูลนิธิจะรับเลี้ยงลูกให้จนกระทั่งสามารถหาพ่อแม่ที่จะมารับไปเป็นลูกบุญธรรมต่อไป ส่วนตัวแม่เองหลังคลอดพักฟื้นแล้วก็สามารถกลับไปเรียนต่อจนจบได้ เรื่องจึงลงเอยได้ด้วยดีพอประมาณ แต่วัยรุ่นทุกคนที่มีเพศสัมพันธ์แบบไม่เหมาะสม อาจประสบชะตากรรมร้ายแรงกว่าคนนี้ เช่น พอพบว่าท้องก็ไปพยายามทำแท้งกับหมอเถื่อน ซึ่งมีโอกาสจะติดเชื้อโรคแล้วตายจากการติดเชื้อ ซึ่งพบอยู่เป็นประจำเพราะหมอเถื่อน เขาทำไม่ถูกต้องเครื่องมือก็สกปรก บางครั้งก็ทำมดลูกทะลุก็มี น่ากลัวจริงๆ

วัยรุ่นตัวอย่างที่หมอเล่าให้ฟังนี้ ไม่ใช่จะพ้นปัญหาไปอย่างไม่เหลืออะไรคิดค้างในใจ เพราะลึกๆ เขาอาจรู้สึกบาปที่ได้ทอดทิ้งลูกตัวเองไป อาจรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนไม่ดี ฉะนั้นในอนาคตถ้าชีวิตต้องเผชิญอะไรไม่ดีเธออาจคิดผูกโยงมากับเรื่องที่เกิดขึ้นได้ว่า เพราะเธอทำบาปไว้จึงต้องประสบชะตากรรมไม่ดี คิดในทำนองกรรมตามสนอง แม้ในการให้คำปรึกษา จิตแพทย์จะพยายามให้ความคิดเหล่านี้ไม่ตกค้างต่อไป เช่น พูดว่า ความผิดพลาดของชีวิตย่อมเกิดขึ้นได้ และการแก้ปัญหานั้นก็ดีที่สุดสำหรับทุกคน ที่เกี่ยวข้องแล้ว ลูกที่มีคนรับไปเลี้ยง เขาก็จะมีชีวิตที่ดีกว่า เพราะเราไม่พร้อมจะเลี้ยงเขา และเขาไม่เป็นที่ยอมรับของปู่ย่าตายายและพ่อของตัวเอง จึงน่าจะปล่อยเขาไปมีชีวิตที่ดีกว่ากับคนอื่นที่พร้อมกว่า กับคนที่ยอมรับเขาและรักเขา แม่ที่ยกลูกให้คนอื่นมักจะยังมีความทรงจำเรื่องนี้อยู่ ทำอย่างไรก็ไม่สามารถจะลืมเรื่องราวเหมือนกับมันไม่เคยเกิดขึ้นได้ แต่จะทำใจได้แค่ไหนนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ดังนั้นทางที่ดีที่สุดคืออย่าให้เกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นจะดีกว่ามาก จะได้ไม่มีตราบาปในใจไปตลอดชีวิต

เรื่องวัยรุ่นสาวท้องไม่มีพ่อ ท้องตอนเป็นนักเรียน หรือท้องโดยยังไม่ได้แต่งงาน ไม่ใช่เรื่องใหม่ มันเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าตั้งแต่หมอจำความได้ จนบัดนี้ทำงานมาหลายสิบปี เรื่องแบบนี้ก็ยังเกิดขึ้นตลอดเวลาในสังคม เกิดขึ้นจนพ่อแม่กลัว พ่อแม่บางคนกลัวมากไปพลอยทำให้ลูกสาวเดือดร้อน ขาดโอกาสในชีวิตไปเลยก็มี เช่น ญาติรุ่นพี่ของหมอคนหนึ่งอยู่ต่างจังหวัดซึ่งเป็นคนหัวดีเรียนเก่ง แต่พ่อแม่ไม่ยอมให้มาเรียนต่อกรุงเทพฯ ด้วยกลัวลูกสาวจะมาเสียคนเพราะห่างไกลพ่อแม่ เนื่องจากลูกสาวข้างบ้านมาเรียนที่กรุงเทพฯ แล้วก็มาท้องตอนเป็นนักเรียนนี่แหละที่ทำให้เขากลก้ว ญาติผู้นี้ของหมอเลยหมดโอกาสที่จะได้รับการศึกษาที่ดีเท่าที่ควร ต้องใช้ชีวิตของหญิงชาวบ้านที่จบประถม 4 คือต่อมาก็แต่งงานมีลูกเลี้ยงลูกไป ทำงานบ้านไป ชีวิตของเขาต้องขึ้นอยู่กับสามีและลูก ถ้าสามีและลูกดีชีวิตก็ดีไม่มีปัญหา ถ้าเจอสามีและลูกไม่ดีก็ต้องช้ำใจ ไม่มีทางเลือกอื่นเหลือไว้ให้มากนัก

คำถามจึงมีอยู่ว่า ทำไมเรื่องแบบนี้จึงเกิดแล้วเกิดอีก ป้องกันไม่ได้เลยหรือ เรื่องเพศเป็นเรื่องไม่ดีหรือไม่ใช่แน่ เรื่องเพศสัมพันธ์ก็เหมือนดาบสองคม ใช้เป็นจะดี ให้ความสุข ใช้ไม่เป็นจะเป็นทุกข์เหมือนโดนมีดบาด ดังนั้น เรื่องนี้คงเกิดจากความไม่เข้าใจ ความไม่รู้ การรู้ไม่เท่าทันโลกของทั้งวัยรุ่นชายและหญิง เพราะสังคมของเราไม่มีการเรียนรู้เรื่องเพศให้เป็นกิจจะลักษณะไม่มีการให้เพศศึกษาที่ถูกต้อง ให้เด็กโตขึ้นมาไปเรียนรู้เอาเองตามยถากรรม ผิดๆ ถูกๆ ตามเรื่องตามราว จึงเกิดเรื่องได้บ่อยๆ วัยรุ่นที่อยู่ห่างไกลสายตาพ่อแม่จึงมีโอกาสผิดพลาดสูงกว่าวัยรุ่นที่พ่อแม่คอยดูแลใกล้ชิด ซึ่งก็อาจใกล้ชิดจนวัยรุ่นอึดอัดจนอกจะแตกได้เช่นกัน

การให้ความรู้กับลูกเรื่องเพศจึงเป็นเรื่องสำคัญ ควรให้ตั้งแต่เด็กเลย (ขอเชิญผู้สนใจหาอ่านได้จากหนังสือของหมอชื่อ "เลี้ยงลูกถูกวิธีชีวีเป็นสุข" ในบท สอนลูกเรื่องเพศ) แต่ในที่นี้จะพูดเฉพาะในวัยรุ่น

ความต้องการทางเพศในวัยรุ่นนั้นมีมาก ทั้งนี้เป็นธรรมชาติของคนที่เป็นไปตามวัย โดยเฉพาะในวัยรุ่นชายจะเห็นได้อย่างชัดเจน จะเป็นช่วงที่มีความต้องการทางเพศสูงสุด ระหว่างแถวๆ อายุประมาณ 16-17 ปีเลยทีเดียว วัยรุ่นหญิงก็มีความต้องการเช่นกัน เช่น ถ้าดูภาพยนตร์ อ่านหนังสือที่พรรณนาบทพลอดรักหรือการร่วมเพศ หรือดูภาพโป๊ จะเกิดอารมณ์ทางเพศมากได้อย่างรวดเร็วรุนแรง วัยรุ่นที่มีความรู้จะสามารถปลดปล่อยอารมณ์ หรือสนองความต้องการเหล่านี้ได้อย่างถูกวิธี เช่น การสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง แต่ถ้าความต้องการไม่รุนแรง อาจทดแทนด้วยวิธีอื่นๆ เช่น เล่นกีฬา มีกิจกรรมอื่นๆ ได้ คนที่ไม่รู้อาจกลัวด้วยว่าการสำเร็จความใคร่จะเป็นอันตราย หรือคิดว่าเป็นเรื่องที่ไม่ดี ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับในวงการแพทย์มานานว่าเป็นเรื่องปกติ ใช้ได้ทั้งหญิงชาย แม้คนที่เป็นสามีภรรยากันแล้ว บางครั้งคู่ของตนไม่สามารถตอบสนองทางเพศได้ตามต้องการก็ยังสามารถสำเร็จความใคร่ได้ทั้งสามีและภรรยา เช่น เวลาความต้องการไม่ตรงกัน หรือสามีป่วย ภรรยาป่วย เป็นต้น มีข้อท้วงนิดหน่อยเกี่ยวกับการสำเร็จความใคร่ คือ ขอเพียงอย่าหมกมุ่นและกระทำบ่อยจนร่างกายอ่อนเพลีย เช่น กระทำวันละหลายๆ ครั้ง หรือเป็นสิบๆ ครั้งต่อวัน

ที่มา : http://www.love4home.com

ความเครียดกับวัยรุ่น

วัยรุ่นเป็นวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และสังคม จึงทำให้วัยรุ่นเป็นวัยที่ต้องเผชิญกับความเครียดอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและพัฒนาการเหล่านี้อย่างมากตามไปด้วย นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน ตั้งแต่ระดับครอบครัว โรงเรียน ชุมชน ประเทศจนถึงระดับโลก ทั้งในด้านเศรษฐกิจการเมือง ค่านิยม และวัฒนธรรม ล้วนมีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตของวัยรุ่นอย่างมาก รวมไปถึงการที่พ่อแม่และสังคมมีความคาดหวังต่อวัยรุ่นสูง โดยเฉพาะในด้านการเรียน ปัจจัยเหล่านี้รวมกันเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้วัยรุ่นในปัจจุบัน ต้องเผชิญกับความเครียดในชีวิตประจำวันมากกว่าวัยรุ่นในอดีต
  
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ศิริไชย หงส์สงวนศรี ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้ให้ความรู้ในเรื่องนี้ไว้อย่างดีมาก เริ่มด้วยให้คำจำกัดความของความเครียด หรือ “Stress” หมายถึง อารมณ์หรือความรู้สึกที่เกิดจากบุคคลประเมินความสัมพันธ์ระหว่างตนเองและสภาพแวดล้อมว่าอาจจะมีผลกระทบทางลบต่อสุขภาวะของตนเอง หรือความขัดแย้งภายในจิตใจที่ทำให้เกิดการเสียสมดุลของจิตใจ และมีการแสดงออกทั้งด้านความคิด ความรู้สึก และอาการทางกายที่เกิดจากการตื่นตัวของระบบประสาทอัตโนมัติ เช่น ใจสั่น หายใจเร็วกว่าปกติ เป็นต้น ดังนั้นต้นเหตุของความเครียดอาจเป็นผลจากการประเมินสถานการณ์หรือเหตุการณ์ภายนอก หรือเกิดมาจากภายในจิตใจของตนเอง เช่น การคาดการณ์ล่วงหน้าในทางลบ ความขัดแย้งภายในจิตใจ รวมถึงความขัดแย้งในระดับจิตใต้สำนึก เป็นต้น ระดับความเครียดเกี่ยวข้องกับปัจจัยส่วนบุคคล ปัจจัยสภาพแวดล้อม และความสามารถในการจัดการกับความเครียด
  
ปัจจัยส่วนบุคคลมีความสำคัญต่อการเกิด ความเครียดในด้านการให้ความสำคัญต่อปัญหา และความเครียดหรือมุมมองต่อปัญหาต่าง ๆ แต่ละบุคคลให้ความสำคัญกับปัญหาต่าง ๆ แตกต่างกัน และมีมุมมองต่อปัญหาแต่ละเรื่องแตกต่างกัน เช่น บางคนมีมุมมองต่อปัญหาว่าเป็นการท้าทายและสามารถจัดการได้ แต่บางคนมีมุมมองว่าเป็นอุปสรรคและคิดว่าไม่สามารถจัดการได้ เป็นต้น

ปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมที่สัมพันธ์กับระดับความเครียด ได้แก่ การเป็นเรื่องใหม่ที่บุคคลไม่มีประสบการณ์มาก่อน ปัญหามีความรุนแรงหรือมีอันตรายสูงระยะเวลาและช่วงเวลาที่เกิดปัญหา มีความไม่ชัดเจนหรือความไม่แน่นอนสูง เป็นต้น
  
ความเครียดมีผลกระทบต่อวัยรุ่นและทุกวัย ทั้งทางด้านบวกและด้านลบ ความเครียดในระดับพอดีจะมีผลทางบวก ได้แก่ ความเครียดเรื่องผลการเรียนทำให้วัยรุ่นตั้งใจเรียน เป็นต้น ผลการวิจัยยังพบว่าความเครียดในระดับพอเหมาะทำให้ความสามารถในการเรียนรู้และความจำดีขึ้น แต่ความเครียดในระดับที่มากเกินไปกลับทำให้ความสามารถในการเรียนรู้และความจำแย่ลง ความเครียดในระดับรุนแรงเป็นเวลานานและไม่สามารถจัดการได้ ยังมีผลกระทบทางลบต่อทั้งสุขภาพจิตและปัญหาสุขภาพร่างกายอย่างมาก ผลทางสุขภาพจิต ได้แก่ ความวิตกกังวล อารมณ์ซึมเศร้า การฆ่าตัวตาย การมีพฤติกรรมเสี่ยงในด้านต่าง ๆ รวมทั้งการสูบบุหรี่ ดื่มสุรา พฤติกรรมทางเพศที่ไม่เหมาะสม พฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง และปัญหาการเรียน เป็นต้น และผลต่อสุขภาพร่างกาย ได้แก่ นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ใจสั่น หายใจไม่เต็มอิ่ม เป็นลม เป็นต้น ความเครียดมีผลต่อการทำงานของระบบต่าง ๆ ของร่างกายทุกระบบ เช่น ระบบภูมิคุ้มกัน ความเครียดทำให้ภูมิคุ้มกันบกพร่อง เกิดการติดเชื้อได้ง่าย หรืออาจทำให้เกิดความผิดปกติมากขึ้นในผู้ที่เป็นโรคภูมิคุ้มกันไวเกิน ระบบต่อมไร้ท่อที่เกี่ยวข้องกับฮอร์โมนต่าง ๆ และระบบประสาทที่สัมพันธ์กับการเกิดโรควิตกกังวลหรือโรคซึมเศร้า และระบบหัวใจและหลอดเลือด ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคความดันโลหิตสูง เส้นเลือดหัวใจตีบตัน เป็นต้น ในบางกรณีความเครียดอาจทำให้เกิดอาการป่วยที่เรียกว่ากลุ่มอาการ Hyperventilation syndrome คือ จะมีอาการใจสั่นแน่นหน้าอก หายใจไม่เต็มอิ่มเหมือนกับจะขาดใจตายจึงพยายามหายใจเร็ว จนทำให้ภาวะความเป็นกรดด่างในเลือดผิดปกติและระดับเกลือแร่ต่าง ๆ ในร่างกายเสียสมดุล และเกิดอาการปลายมือปลายเท้าชาและจีบเกร็งคล้ายกับมีอาการลมชักได้ ผลการวิจัยในประเทศไทยพบว่า วัยรุ่นถึงร้อยละ 35 มีอารมณ์อ่อนไหวง่ายและวิตกกังวลสูงเมื่อมีปัญหาสะเทือนอารมณ์
  
สาเหตุความเครียดของวัยรุ่น สาเหตุที่ทำให้วัยรุ่นเกิดความเครียดบ่อย ๆ ได้แก่
  
1. ปัญหาความสัมพันธ์และความขัดแย้งกับผู้อื่น เช่น พ่อแม่ ญาติพี่น้อง เพื่อน เพื่อนต่างเพศ ครูอาจารย์ เป็นต้น

2. ปัญหาภายในครอบครัว เช่น ความรุนแรงในครอบครัว การทะเลาะเบาะแว้งและการทำร้ายร่างกายของพ่อแม่ การหย่าร้างของพ่อแม่ การเจ็บป่วยหรือการเสียชีวิตของพ่อแม่และญาติพี่น้อง การถูกพ่อแม่ลงโทษด้วยความรุนแรง การถูกพ่อแม่ตำหนิหรือดุว่าด้วยถ้อยคำรุนแรง การถูกล่วงละเมิดทางเพศ รวมถึงปัญหาเศรษฐกิจในครอบครัว

3. ปัญหาการเรียนและปัญหาอื่นในโรงเรียน พ่อแม่ในปัจจุบันมักคาดหวังกับลูกวัยรุ่นสูงในเรื่องการเรียน วัยรุ่นที่เรียนไม่เก่ง หรือเรียนได้ไม่ดีเท่าที่ควรจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น โรคสมาธิสั้น โรคทักษะด้านการอ่านบกพร่อง ขาดกำลังใจ เป็นต้น

4. ปัญหาสภาพแวดล้อมไม่ปลอดภัยต่อชีวิตและสุขภาพ

5. ปัญหาจากตัววัยรุ่นเอง เช่น รูปร่าง หน้าตาและความเปลี่ยนแปลงของร่างกายในช่วงวัยรุ่น ความคิดความรู้สึกต่อตนเองในทางลบ รับผิดชอบกิจกรรมหลายอย่าง การมีความคาดหวังว่าต้องทำทุกอย่างสมบูรณ์แบบ การรับความคาดหวังจากพ่อแม่และผู้อื่นมาเป็นของตนเอง และป่วยเป็นโรคทางกายเรื้อรัง เป็นต้น
  
วัยรุ่นแปลความหมายของปัญหาที่ทำให้เกิดความตึงเครียดแตกต่างกันไป ตามประสบการณ์ของแต่ละบุคคล และปัจจัยอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น เพศ อายุ ระดับพัฒนาการด้านความคิด อารมณ์ และสังคม รวมไปถึงอิทธิพลจากครอบครัว สังคม และวัฒนธรรม และปัจจัยเหล่านี้ยังมีส่วนกำหนดว่าวัยรุ่นจะจัดการกับความเครียดอย่างไร วัยรุ่นหญิงมักตึงเครียดจากสาเหตุความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลมากกว่าวัยรุ่นชาย ในเรื่องปัญหาการเรียนและปัญหาในโรงเรียน พบว่าวัยรุ่นตอนต้นมักตึงเครียดจากปัญหาการปรับตัวในโรงเรียน ส่วนวัยรุ่นตอนกลางและตอนปลายตึงเครียดจากปัญหาการเรียนและการเลือกอาชีพมากกว่า
  
การจัดการกับความเครียด หรือ “Coping” หมายถึง ความพยายามในการแก้ไขความเครียดที่เกิดขึ้น โดยในที่นี้จะหมายถึง ความเครียดที่มากเกินกว่าความเครียดที่เกิดขึ้นในการดำเนินชีวิตประจำวันตามปกติ ซึ่งสามารถใช้ความสามารถในการจัดการความเครียดระดับปกติจัดการได้ เป็นความพยายามทั้งทางด้านการควบคุมอารมณ์ ความคิด พฤติกรรม และการตอบสนองทางสรีรวิทยาของร่างกาย รวมไปถึงความพยายามในการควบคุมปัจจัยสภาพแวดล้อมด้วย โดยมีเป้าหมายเพื่อกำจัดความเครียดและทำให้สามารถกลับมาดำเนินชีวิตตามปกติได้ ทั้งนี้ปัจจัยที่ทำให้เกิดความเครียดนั้นอาจเป็นปัจจัยภายนอกหรือปัจจัยภายในตัวเองก็ได้ แม้ว่าการจัดการกับความเครียด เป็นความพยายามที่เกิดขึ้นในระดับจิตสำนึกเป็นส่วนใหญ่ ต่างจากกลไกทางจิต (defense mechanism) ที่เกิดขึ้นในระดับจิตไร้สำนึกทั้งหมด แต่การจัดการกับความเครียดบางส่วนก็เป็นผลจากการทำงานของจิตใจในระดับจิตไร้สำนึก หรือเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติต่อปัญหาที่ทำให้เกิดความเครียด.

ที่มา : http://www.panyathai.or.th

การให้คำปรึกษาวัยรุ่น (Counseling for Teenager)


ผศ. นพ. พนม เกตุมาน  สาขาวิชาจิตเวชเด็กและวัยรุ่น  ภาควิชาจิตเวชศาสตร์

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

                การให้คำปรึกษา  คือการช่วยเหลือให้คิดและตัดสินใจแก้ไขปัญหาของตนเองได้  ด้วยการใช้เทคนิคต่าง  ของการสร้างความสัมพันธ์  การสื่อสาร  ความเข้าใจและมีความรู้สึกอยากช่วยเหลือ ขั้นตอนของการให้คำปรึกษา  ประกอบด้วย  การสร้างความสัมพันธ์ที่ดี   การสำรวจปัญหา และเลือกเรื่องที่จะทำงานร่วมกัน  การประคับประคองจิตใจให้อารมณ์สงบ  การแก้ปัญหากระตุ้นให้มองหาทางเลือก  ข้อดีข้อเสีย ชี้แนะ ช่องทาง ข้อมูล ประกอบการตัดสินใจ และการให้ตัดสินใจ การทดลองปฏิบัติ และติดตามผลด้วยตนเอง         ก่อนจะยุติการช่วยเหลือ

                การให้คำปรึกษาวัยรุ่น นอกจากจะมีความรู้และทักษะการให้คำปรึกษาแล้ว  ควรมีความรู้ความเข้าใจวัยรุ่น  ได้แก่พัฒนาการตามปกติของวัยรุ่น  ปัญหาพฤติกรรมที่พบบ่อยในวัยรุ่น

พัฒนาการปกติของวัยรุ่น

                วัยรุ่น จะเริ่มต้นตอนอายุประมาณ  12-13 ปี  แม้ว่าบางคนจะเข้าสู่วัยรุ่นเร็ว  เช่น  บางคนอายุ  9-10  ปีอาจเริ่มเป็นหนุ่มเป็นสาวแล้ว  ก็ไม่ถือว่าผิดปกติ  สมัยนี้มีแนวโน้มจะเป็นวัยรุ่นเร็วกว่าสมัยก่อน  เนื่องจากความสมบูรณ์ทางร่างกายที่ดีขึ้น   เพศหญิงจะเข้าสู่วัยรุ่นเร็วกว่าเพศชายประมาณ 2 ปี ในชั้นประถมปลาย  ป.5-6  จะเห็นผู้หญิงจะเป็นสาวมากกว่าผู้ชาย   เมื่อเข้าสู่วัยรุ่นแล้ว  พัฒนาการของวัยรุ่นจะเกิดต่อเนื่องไปจนถึงอายุประมาณ  18 ปี จึงจะเข้าสู่วัยผู้ใหญ่  ในช่วงวัยรุ่นนี้จะสังเกตตัวเองได้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก  ในพัฒนาการด้านต่างๆ  ดังนี้

1.พัฒนาการทางร่างกาย

                การเปลี่ยนแปลงประกอบด้วย   การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายทั่วไป  และการเปลี่ยนแปลงทางเพศ   เนื่องจากวัยนี้ มีการสร้างและหลั่งฮอร์โมนเพศและฮอร์โมนของการเจริญเติบโตอย่างมากและรวดเร็ว

    การเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย   ร่างกายจะเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว แขนขาจะยาวขึ้นก่อนจะเห็นการเปลี่ยนแปลงอื่นประมาณ 2 ปี เพศหญิงจะไขมันมากกว่าชาย   ผู้ชายจะมีกล้ามเนื้อมากกว่า  ทำให้เพศชายแข็งแรงกว่า

    การเปลี่ยนแปลงทางเพศ  สิ่งที่เห็นได้ชัดเจน  คือวัยรุ่นชายจะเป็นหนุ่มขึ้น  นมขึ้นพาน(หัวนมโตขึ้นเล็กน้อย  กดเจ็บ)  เสียงแตก  หนวดเคราขึ้น  และเริ่มมีฝันเปียก (การหลั่งน้ำอสุจิในขณะหลับและฝันเกี่ยวกับเรื่องทางเพศ)  การเกิดฝันเปียกครั้งแรกเป็นสัญญานของการเข้าสู่วัยรุ่นของเพศชาย  ส่วนวัยรุ่นหญิงจะเป็นสาวขึ้น  คือ เต้านมมีขนาดโตขึ้น  ไขมันที่เพิ่มขึ้นจะทำให้รูปร่างมีทรวดทรง  สะโพกผายออก  และเริ่มมีประจำเดือนครั้งแรก    การมีประจำเดือนครั้งแรก เป็นสัญญานบอกการเข้าสู่วัยรุ่นในหญิง

                ทั้งสองเพศจะมีการเปลี่ยนแปลงของอวัยวะเพศ  ซึ่งจะมีขนาดโตขึ้น และเปลี่ยนเป็นแบบผู้ใหญ่  มีขนขึ้นบริเวณอวัยวะเพศ  มีกลิ่นตัว  มีสิวขึ้น

2. พัฒนาการทางจิตใจ

สติปัญญา  วัยนี้สติปัญญาจะพัฒนาสูงขึ้น  อย่างมาก  และรวดเร็ว  จนมีความคิดเป็นแบบรูปธรรม  นั่นคือมีความสามารถเรียนรู้  เข้าใจเหตุการณ์ต่างๆ  ได้ลึกซึ้งขึ้น   มีความสามารถในการคิด  วิเคราะห์  และสังเคราะห์สิ่งต่างๆได้มากขึ้นตามลำดับ   จนเมื่อพ้นวัยรุ่นแล้ว  จะมีความสามารถทางสติปัญญาได้เหมือนผู้ใหญ่  แต่ในช่วงระหว่างวัยรุ่นนี้ ความคิดยังอาจขาดความรอบคอบ  ขาดการยั้งคิดหรือไตร่ตรองให้รอบคอบ   มีความคิดที่รวดเร็วแบบหุนหันพลันแล่นมากกว่า  เมื่อโตขึ้นกว่านี้  จะมีความคิดที่สมบูรณ์ขึ้น  คิดรอบด้านได้มากขึ้น  โดยเรียนรู้จากประสบการณ์ต่างๆในชีวิตนั่นเอง

ความคิดเกี่ยวกับตนเอง   วัยนี้จะเริ่มมีความสามารถในการรับรู้ตนเอง ด้านต่างๆ   ดังนี้

                เอกลักษณ์  จะเริ่มแสดงออกถึงสิ่งตนเองชอบ  สิ่งที่ตนเองถนัด  ซึ่งจะแสดงถึงความเป็นตัวตนของเขาที่โดดเด่น  ได้แก่  วิชาที่ชอบเรียน  กีฬาที่ชอบเล่น  งานอดิเรก  การใช้เวลาว่างให้เกิดความเพลิดเพลิน   กลุ่มเพื่อนที่ชอบและสนิทสนมด้วย  โดยจะเลือกคบคนที่มีส่วนคล้ายคลึงกัน  หรือเข้ากันได้   และจะเกิดการเรียนรู้และถ่ายทอดแบบอย่างจากกลุ่มเพื่อนนี้เอง  ทั้งแนวคิด  ค่านิยม  ระบบจริยธรรม  การแสดงออกและการแก้ปัญหาในชีวิต  จนสิ่งเหล่านี้กลายเป็นเอกลักษณ์ของตน  และกลายเป็นบุคลิกภาพนั่นเอง   สิ่งที่แสดงถึงเอกลักษณ์ตนเองยังมีอีกหลายด้าน  ได้แก่  เอกลักษณ์ทางเพศ แฟชั่น  ดารา  นักร้อง  การแต่งกาย    ทางความเชื่อในศาสนา  อาชีพ  คติประจำใจ  เป้าหมายในการดำเนินชีวิต   วัยรุ่นที่ไม่เกิดเอกลักษณ์ของตน  จะมีความสับสนในตนเอง  ขาดแนวทางหรือเป้าหมายในชีวิตตน และขาดความสุขในการการดำเนินชีวิตต่อไป

                การได้รับการยอมรับจากผู้อื่น   วัยนี้ต้องการการยอมรับจากกลุ่มเพื่อนอย่างมาก  การได้รับการยอมรับจะช่วยให้เกิดความรู้สึกมั่นคง  ปลอดภัย  เห็นคุณค่าของตนเอง  มั่นใจตนเอง  วัยนี้จึงมักอยากเด่นอยากดัง อยากให้มีคนรู้จักมากๆ    อาจทำอะไรเพื่อให้คนอื่นสนใจ ถ้ามีจุดดีจุดเด่นให้เพื่อนๆยอมรับได้  จะเป็นที่รักของเพื่อนๆ  การมีจุดเด่นนี้  ไม่จำเป็นต้องดีเด่นชนะคนอื่น  ไม่ควรจะเด่นจากการแข่งขันให้เหนือกว่าใครๆ  แต่สามารถดีเด่นในเรื่องการเป็นคนดี  มีประโยชน์  โอบอ้อมอารี  เต็มใจช่วยเหลือเพื่อน  มองเพื่อนในแง่ดี  มีการสื่อสารที่ดีต่อกัน

                ความภาคภูมิใจตนเอง   วัยรุ่นจะพอใจและภูมิใจ  ที่ตนเองเป็นที่ยอมรับของเพื่อนและคนอื่นๆได้  รู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า  เป็นคนดีและมีประโยชน์แก่ผู้อื่นได้  ทำอะไรได้สำเร็จ  การทำประโยชน์แก่เพื่อนๆ  เป็นทักษะสำคัญที่ควรมี  การมีเพื่อนดี  จะช่วยกันสร้างความภาคภูมิใจให้แก่กันได้  การเลือกคบเพื่อนที่ดี  เพื่อนที่ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน  จะช่วยให้มีความภูมิใจตนเองได้

                ความเป็นตัวของตัวเอง   วัยนี้จะรักอิสระ  เสรีภาพ ไม่ค่อยชอบอยู่ในกฎเกณฑ์กติกาใดๆ  ชอบคิดเอง  ทำเอง  พึ่งตัวเอง  เชื่อความคิดตนเอง   มีปฏิกิริยาตอบโต้ผู้ใหญ่(เช่นพ่อแม่  หรือครูอาจารย์)ที่บีบบังคับสูง    ความอยากรู้อยากเห็นอยากลองจะมีสูงสุดในวัยนี้  ทำให้อาจเกิดพฤติกรรมเสี่ยงได้ง่าย  บางคนจะขาดการยั้งคิดที่ดี  เมื่อตัวเองคิดอย่างไรแล้วก็อยากจะทำตามความคิด  โดยขาดการไตร่ตรองให้รอบคอบ  จึงต้องระมัดระวังตัว  สร้างและแสดงความเป็นตัวของตัวเอง  โดยมีการควบคุมตนเองให้อยู่ในกฎเกณฑ์กติกาของส่วนรวมด้วย

                การควบคุมตนเอง   วัยนี้จะเรียนรู้ที่จะควบคุมความคิด  ควบคุมอารมณ์  ควบคุมการกระทำ  ให้อยู่ในกรอบกติกา  ทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน  การรู้จักยั้งคิด การคิดให้เป็นระบบ  จะเป็นประโยชน์ที่ทำให้สามารถใช้ความคิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ  และ อยู่ร่วมกับผู้อื่นได้

อารมณ์   หลายคนเมื่อเริ่มเข้าสู่วัยรุ่นจะมีอารมณ์ปั่นป่วน  เปลี่ยนแปลงง่าย  หงุดหงิดง่าย  เครียดง่าย  โกรธง่าย   อาจเกิดอารมณ์ซึมเศร้าโดยไม่มีสาเหตุได้ง่าย  อารมณ์ที่ไม่ดีเหล่านี้อาจทำให้เกิดพฤติกรรมเกเร  ก้าวร้าว   มีผลต่อการเรียนและการดำเนินชีวิตได้ ในวัยรุ่นตอนต้น  การควบคุมอารมณ์ยังไม่ค่อยดีนัก  บางครั้งยังทำอะไรตามอารมณ์ตัวเองอยู่บ้าง  แต่จะค่อยๆดีขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น  นอกจากนี้จะมีความรู้สึกหรือมีอารมณ์ทางเพศ   ทำให้มีความสนใจใฝ่รู้เรื่องทางเพศ  หรือมีพฤติกรรมทางเพศ  เช่น  การสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง  เป็นการระบายความรู้สึกทางเพศ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติในวัยนี้  แต่พฤติกรรมบางอย่างอาจเป็นปัญหาตามมา เช่น  เบี่ยงเบนทางเพศ กามวิปริต หรือการมีเพศสัมพันธ์ในวัยรุ่น  ควรรู้ว่า  ควรควบคุมอารมณ์อย่างไรดี   เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นในวัยนี้

จริยธรรม   วัยนี้จะมีความคิดเชิงอุดมคติสูง  เพราะสามารถแยกแยะความผิดชอบชั่วดีได้  มีระบบมโนธรรมของตนเอง   ต้องการให้เกิดความถูกต้อง  ความชอบธรรมในสังคม  ชอบช่วยเหลือผู้อื่น   ต้องการเป็นคนดี  เป็นที่ชื่นชอบของคนอื่น    และจะรู้สึกอึดอัดคับข้องใจกับความไม่ถูกต้องในสังคม  หรือในบ้าน  แม้แต่พ่อแม่ของตนเองก็เริ่มรู้สึกว่าไม่ได้ดีสมบูรณ์แบบเหมือนเมื่อก่อนอีกต่อไปแล้ว  บางครั้งอาจจะแสดงออก  วิพากษ์วิจารณ์พ่อแม่หรือ ครูอาจารย์ตรงๆอย่างรุนแรง  การต่อต้าน  ประท้วงจึงเกิดได้บ่อยในวัยนี้เมื่อวัยรุ่นเห็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง  หรือมีการเอาเปรียบ เบียดเบียน  ความไม่เสมอภาคกัน   ในวัยรุ่นตอนต้นการควบคุมตนเองอาจยังไม่ดีนัก  แต่เมื่อพ้นวัยรุ่นนี้ไป  การควบคุมตนเองจะดีขึ้น  จนเป็นระบบจริยธรรมที่สมบูรณ์เหมือนผู้ใหญ่

3. พัฒนาการทางสังคม    วัยนี้จะเริ่มห่างจากทางบ้าน  ไม่ค่อยสนิทสนมคลุกคลีกับพ่อแม่พี่น้องเหมือนเดิม  แต่จะสนใจเพื่อนมากกว่า  จะใช้เวลากับเพื่อนนานๆ     มีกิจกรรมนอกบ้านมาก   ไม่อยากไปไหนกับทางบ้าน   เริ่มมีความสนใจเพศตรงข้าม  สนใจสังคมสิ่งแวดล้อม  ปรับตัวเองให้เข้ากับกฎเกณฑ์กติกาของกลุ่ม  ของสังคมได้ดีขึ้น   มีความสามารถในทักษะสังคม  การสื่อสารเจรจา  การแก้ปัญหา  การประนีประนอม  การยืดหยุ่นโอนอ่อนผ่อนตามกัน  และการทำงานร่วมกับผู้อื่น  พัฒนาการทางสังคมที่ดีจะเป็นพื้นฐานมนุษยสัมพันธ์ที่ดี  และบุคลิกภาพที่ดี  การเรียนรู้สังคมจะช่วยให้ตนเองหาแนวทางการดำเนินชีวิตที่เหมาะกับตนเอง  เลือกวิชาชีพที่เหมาะกับตน  และมีครอบครัวที่ดี  ช่วยกันดูแลสังคมสิ่งแวดล้อมที่ดีต่อตนเองและส่วนรวมในอนาคตต่อไป

 เป้าหมายของการพัฒนาวัยรุ่น

                เป้าหมายของพัฒนาการวัยรุ่น  ควรประกอบด้วย

1.        ร่างกายที่แข็งแรง  ปราศจากความบกพร่องทางกาย  มีความสมบูรณ์  มีภูมิต้านทานโรคและปราศจากภาวะเสี่ยงต่อปัญหาทางกายต่างๆ  ควรเอาใจใส่กับร่างกาย  ไม่ปล่อยให้อ้วนไป  ผอมไป  หรือขาดอาหารบางอย่าง  ควรมีการออกกำลังกายสม่ำเสมอ  ให้ร่างกายสดชื่น  แข็งแรง  มีภูมิต้านทานโรคต่างๆ

2.        เอกลักษณ์แห่งตนเองดี

·        มีทักษะส่วนตัว  และทักษะสังคมดี  มีบุคลิกภาพดี

·        มีเอกลักษณ์ส่วนตัว  และเอกลักษณ์ทางเพศเหมาะสม

·        มีการเรียนและอาชีพ ได้ตามศักยภาพของตน  ตามความชอบความถนัด และความเป็นไปได้  ทำให้มีความพอใจต่อตนเอง

·        การดำเนินชีวิต  สอดคล้องกับความชอบความถนัด  มีการผ่อนคลาย  กีฬา  งานอดิเรก  มีความสุขได้โดยไม่เบียดเบียนคนอื่น  มีการช่วยเหลือคนอื่นและสิ่งแวดล้อม

·        มีมโนธรรมดี  เป็นคนดี

3.        มีการบริหารตนเองได้ดี  สามารถบริหารจัดการตนเอง โดยไม่ต้องพึ่งพาผู้อื่น

4.        มีความรับผิดชอบ   มีความรับผิดชอบทั้งต่อตนเอง  ต่อผู้อื่น  ต่อประเทศชาติ และต่อสิ่งแวดล้อมได้ดี

5.        มีมนุษยสัมพันธ์กับคนอื่นได้ดี  เลือกคบเพื่อนที่ดี  รักษาความสัมพันธ์ที่ดีไว้ได้ยืนยาว



ความหมายของการให้คำปรึกษา

                กระบวนการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประสบปัญหา โดยอาศัยปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ให้คำปรึกษาและผู้รับการปรึกษา  ใช้เทคนิคการสื่อสาร  ทำให้เกิดความรู้ ความเข้าใจ ถึงสาเหตุของปัญหา ใช้ศักยภาพของ ตนเองในการคิด ตัดสินใจ แก้ปัญหาได้ด้วยตนเอง

ประเภทของการให้คำปรึกษา

1.       Informative counseling

2.       Directive counseling

3.       Advocacy counseling

4.       Supportive counseling

หลักการให้คำปรึกษา

การให้คำปรึกษา เป็นการช่วยเหลือรูปแบบหนึ่ง  ที่อาศัยความสัมพันธ์และการสื่อสารระหว่างผู้ให้คำปรึกษาและผู้รับการปรึกษา  เพื่อให้ผู้รับการปรึกษาเกิดความเข้าใจตนเอง เข้าใจปัญหา ได้ความรู้และทางเลือกในการแก้ปัญหานั้นอย่างเพียงพอมีสภาพอารมณ์และจิตใจที่พร้อมจะคิดและตัดสินใจด้วยตัวเอง

วัตถุประสงค์ของการให้คำปรึกษา จึงประกอบด้วยการช่วยให้วัยรุ่น

1.        เกิดแรงจูงใจที่จะให้ข้อมูล

2.        เข้าใจและเห็นปัญหาของตนเอง

3.        อยากแก้ไขปัญหา  หรือพัฒนาตนเอง

4.        ดำเนินการแก้ไขปัญหา  หรือพัฒนาตนเอง

เทคนิคการให้คำปรึกษา

                เทคนิคการให้คำปรึกษา  สามารถนำมาใช้ตั้งแต่เริ่มการสัมภาษณ์วัยรุ่น ขั้นตอน ดังนี้

1.        การเริ่มต้นสร้างความสัมพันธ์ที่ดี

2.        การสำรวจลงไปในปัญหา หรือสาเหตุที่ทำให้ต้องมาพบกัน

3.        สรุปและเลือกประเด็นที่สำคัญร่วมกัน  ที่จะทำงานร่วมกัน

4.        ตั้งเป้าหมายในการทำงานต่อไปด้วยกัน  คือการแก้ไขปัญหา

5.        การดำเนินการช่วยเหลือ การฝึกฝนทักษะต่างๆ

6.        การสรุปและยุติการให้คำปรึกษา

เทคนิคที่ใช้

เทคนิคการให้คำปรึกษา ตามลำดับขั้นมีดังนี้

1.        การเริ่มต้นสร้างความสัมพันธ์ที่ดี

·        การจัดสิ่งแวดล้อม  ห้องตรวจควรความมิดชิด เป็นสัดส่วน ไม่มีเสียงรบกวน ไม่มีคนเดินผ่านไปมา บรรยากาศมีความสงบและเป็นกันเอง

·        ท่านั่ง  ควรเป็นลักษณะตั้งฉากกัน ไม่ควรเผชิญหน้ากันตรงๆ  เยื้องกันเล็กน้อย ใกล้กันพอที่จะแตะไหล่ได้

·        ก่อนการเริ่มต้นสัมภาษณ์  ควรจัดลำดับการสัมภาษณ์ให้ดี  (ควรพบวัยรุ่นพร้อมพ่อแม่สั้นๆ  เพื่อทำความเข้าใจปัญหาเบื้องต้นก่อน  หลังจากนั้นจึงขอสัมภาษณ์วัยรุ่นตามลำพัง)

·        เปิดการสนทนานำให้เกิดความผ่อนคลาย เป็นกันเอง(small talk)

                 “วันนี้มากันกี่คนครับ  มาอย่างไร  รถติดหรือไม่  นั่งรอนานหรือไม่  อากาศเป็นอย่างไร...ฯลฯ

·        แนะนำตัวเอง  สถานที่ วัตถุประสงค์ของการคุยกัน  เวลาที่จะคุยกัน

                “ผมชื่อ........ เป็นแพทย์ทำงานที่นี่

                “ห้องนี้เป็นห้องสัมภาษณ์  มีหมอและผู้ช่วยอีกหนึ่งคนเท่านั้น  ห้องนี้มีกล้องโทรทัศน์วงจรปิด แต่ขณะนี้หมอจะไม่ใช้   ถ้ามีการใช้เมื่อใดจะขออนุญาตทุกคนก่อนทุกครั้ง

                “ช่วงแรกนี้ หมอขอคุยด้วยกับทุกคนทั้งหมดสั้นๆก่อน  หลังจากนั้นจะขอคุยส่วนตัวกับ........(ชื่อวัยรุ่น)ตอนหลัง

                “วันนี้มีใครมากันบ้าง    หมออยากรู้จักทุกคน ขอให้ช่วยแนะนำตัวกันก่อน ดีไหมครับ

·        การสัมภาษณ์วัยรุ่น  แพทย์ควรแนะนำครอบครัวว่า  จะขอสัมภาษณ์วัยรุ่นตามลำพังด้วย  ถ้ามีสิ่งที่วัยรุ่นไม่กล้าเล่ากับพ่อแม่  เขาจะได้มีโอกาสพูดได้อย่างสบายใจ และเป็นเรื่องปกติที่แพทย์จะขอคุยกับวัยรุ่นตามลำพัง

                “หมอขอคุยกับ.....   ตามลำพังสักครู่   หลังจากนั้นจะขอคุยกับพ่อแม่ในตอนท้ายอีกที

·        การพบกับพ่อแม่ในช่วงสุดท้าย  เพื่อรวบรวมข้อมูลทั้งหมด และอาจมีสิ่งที่พ่อแม่อยากเล่าให้แพทย์ฟังเพิ่มเติมที่ไม่อยากเล่าต่อหน้าเด็ก ช่วงสุดท้ายจะเป็นโอกาสที่แพทย์สรุปผลที่ได้ในการสัมภาษณ์ครั้งนี้ และวางแผนการช่วยเหลือต่อไป ก่อนจบควรเปิดโอกาสให้พ่อแม่ซักถาม

·        การใช้ภาษาพูด  น้ำเสียง  การเน้นคำ  การใช้ สรรพนาม  การทำความเข้าใจภาษาของวัยรุ่น  ควรใช้ภาษาที่เข้าใจกันง่าย เป็นกันเอง พยายามเข้าใจและยอมรับภาษาวัยรุ่น แต่ไม่จำเป็นต้องใช้ภาษาวัยรุ่น

·        เรื่องที่วัยรุ่นไม่อยากเล่าในช่วงแรก แพทย์ควรข้ามไปก่อน แต่ทิ้งท้ายไว้ว่ามีความสำคัญที่น่าจะกลับมาคุยกันอีกในโอกาสต่อไป

        “เรื่องนี้น่าสนใจมาก อาจมีส่วนสำคัญทีเดียว   แต่....ยังไม่อยากเล่าในตอนนี้ ก็ไม่เป็นไร เอาไว้เมื่อพร้อมที่จะเล่าแล้วค่อยเล่าก็ได้ หมอจะขอคุยเรื่องอื่นก่อน แล้วจะขอย้อนกลับมาคุยเรื่องนี้ตอนหลัง ดีไหม

·        การใช้ภาษากาย การสัมผัส สีหน้า แววตา  ท่าทาง ให้เกิดความเป็นกันเอง อยากเข้าใจ อยากช่วยเหลือ ไม่ตัดสินความผิด หรือแสดงการไม่เห็นด้วยกับพฤติกรรมหรือสิ่งที่วัยรุ่นเปิดเผย

2. การสำรวจลงไปในปัญหา หรือสาเหตุที่ทำให้ต้องมาพบ

การรักษาความลับ(confidentiality) ก่อนการสำรวจลงลึกในประเด็นปัญหา  ควรสังเกตท่าที  ความร่วมมือ  การเปิดเผยข้อมูล  ว่าวัยรุ่นมีความไว้วางใจแพทย์มากน้อยเพียงไร  มีเรื่องใดที่วัยรุ่นยังกังวล เช่นเรื่องการเก็บรักษาข้อมูลของวัยรุ่น ควรให้ความมั่นใจเรื่องนี้

                “เรื่องที่คุยกันนี้  หมอคงไม่นำไปบอกพ่อแม่ หรือคนอื่นๆฟัง   ถ้ามีเรื่องที่หมอจะบอกพ่อแม่  หมอจะขอบอก....ก่อน และเรื่องที่จะบอกคงเป็นเรื่องที่.....ยินยอมแล้ว

เทคนิคการถาม  ในตอนต้นควรสอบถามถึงความเข้าใจถึงการมาพบแพทย์  มาได้อย่างไร  พ่อแม่บอกว่าอย่างไร  คิดอย่างไรในตอนแรก

                “เมื่อสักครู่พ่อแม่เล่ามา  คิดอย่างไรบ้าง  มีตอนไหนที่ไม่เห็นด้วย  ไม่เป็นความจริงบ้างหรือไม่  มีอะไรที่จะเล่าเพิ่มเติมตรงไหนอีกบ้าง

                 “ช่วยเล่าให้หมอฟังว่าเกิดอะไรขึ้น

                “เป็นอย่างไร ถึงมาพบหมอที่นี่

                “ลองเดาดูว่า เหตุใดพ่อแม่ถึงพามาพบหมอ

                “คิดว่าพ่อแม่เป็นห่วงเรื่องอะไร

                “หมอทราบจากพ่อแม่ว่า.....................  ..........คิดอย่างไรบ้าง

                “แล้วปัญหาในความคิดของ........... คืออะไร

                “อยากให้พ่อแม่เข้าใจอย่างไร  อยากให้มีการเปลี่ยนแปลงอะไรเกิดขึ้นในบ้าน

ประเภทของคำถาม

คำถามปลายเปิด (open-ended question) เป็นคำถามที่มีคำตอบได้หลากหลาย มักใช้ในการสอบถามเบื้องต้น ในระยะแรกๆของการสัมภาษณ์ ที่ยังไม่แน่ใจว่าวัยรุ่นจะตอบอย่างไร ดังตัวอย่างต่อไปนี้

                “อยากให้หมอช่วยเรื่องอะไร

                “เรื่องอะไรที่ทำให้ไม่สบายใจ

                คำถามปลายเปิด มักจะได้คำตอบที่ตรงกับสิ่งที่วัยรุ่นคิด กังวล เป็นห่วง หรือรู้สึกว่าเป็นปัญหาอยู่ ซึ่งเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมาก เนื่องจากปัญหาที่วัยรุ่นคิด อาจไม่ตรงกับปัญหาที่พ่อแม่เป็นห่วงอยู่

คำถามปลายปิด (close-ended question)  เป็นคำถามที่คาดหวังคำตอบว่า ใช่ หรือไม่ใช่ เท่านั้น ใช้ในกรณีที่ต้องการตรวจสอบว่า มีหรือไม่มีสิ่งที่ผู้สัมภาษณ์สงสัยอยู่ ไม่ควรใช้ในช่วงแรกๆของการสัมภาษณ์ เพราะอาจปิดกั้นการระบายปัญหาที่แท้จริงของวัยรุ่น ตัวอย่างคำถามปลายปิด

                “นอนหลับดีไหม

                “เบื่ออาหารหรือไม่

                “ท้อแท้ไหม

                คำถามปลายปิดมักใช้ในการสำรวจปัญหาอย่างเป็นระบบ เพื่อตรวจสอบว่าวัยรุ่นมีหรือไม่มีอาการหรือปัญหาที่สงสัย มักใช้ในตอนท้ายของการสัมภาษณ์

คำถามนำ (leading question) เป็นคำถามที่ส่งเสริมให้ตอบไปในทิศทางนั้น มักใช้ในกรณีที่วัยรุ่นลังเลที่จะตอบ เช่น

                “เพื่อนเคยชวนให้ลองใช้ยาเสพติดเหมือนกันใช่ไหม

                “ยาบ้านี่รสชาติเป็นอย่างไร  ชอบไหม

การกระตุ้นให้เล่าเรื่อง(facilitation)

                “หมอทราบเบื้องต้นมาว่า..................  คุณพ่อคุณแม่รู้สึกเป็นห่วงที่..................

                “ที่จริงคุณพ่อคุณแม่เล่าให้หมอฟังบ้างแล้ว แต่หมออยากฟังจาก.........(ชื่อ)เอง  ลองเล่าให้หมอฟังว่าเกิดอะไรขึ้น

                “พ่อแม่กังวลว่า................................

                “พ่อแม่อยากจะทำความเข้าใจปัญหามากขึ้น จึงชวน......มาคุยกับหมอ

                “คิดอย่างไรบ้าง    รู้สึกอย่างไร     ยังโกรธพ่อแม่หรือไม่  เมื่อรู้เหตุผลอย่างนี้แล้ว

การยอมรับ (unconditioned positive regard)

                “เรื่องใดที่พูดลำบาก หรืออธิบายไม่ได้ ขอให้บอกหมอด้วย

                “ใครๆที่อยู่ในสภาพเดียวกับ......   คงจะทำใจยอมรับได้ลำบากเหมือนกัน

                “บางทีมันก็ยากที่จะเล่า เรื่องที่ค่อนข้างส่วนตัวอย่างนี้  เอาไว้พร้อมแล้วค่อยเล่าก็ได้

                “เรื่องไหนที่ยังไม่พร้อมจะคุย ขอให้บอกหมอ

การสำรวจลงลึก (exploration)

                 “มีอะไรที่ทำให้รู้สึกหนักใจ กังวลใจ หงุดหงิดใจ

                “ถ้าเป็นไปได้ อยากให้มีการเปลี่ยนแปลงอะไรในบ้าน

                “อยากให้พ่อแม่เป็นอย่างไร

                “ปัญหาอื่นๆในบ้านละ  มีอะไรหนักใจหรือไม่”(ลองสำรวจในเรื่องอื่นๆ ในตอนท้าย เช่นเรื่องความสัมพันธ์ของพ่อแม่  ความสัมพันธ์กับน้อง หรือญาติคนอื่นๆ)

                “วางแผนไว้อย่างไรบ้าง ระยะสั้น  ระยะยาว

การสะท้อนความรู้สึก  (reflection of  feeling)

                “......รู้สึกไม่พอใจที่คุณแม่ยึดโทรศัพท์มือถือไป

                “......โกรธที่ถูกทำโทษ

                “........อึดอัดใจที่หมอถามถึงเรื่องนี้

                “............กังวลใจจนนอนไม่หลับ

                การสะท้อนความรู้สึกจะช่วยให้วัยรุ่นเกิดความรู้สึกว่าแพทย์เข้าใจความรู้สึก เกิดความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน การสะท้อนความรู้สึกช่วยในการตอบคำถาม หรือตอบสนองบางสถานการณ์ได้ เช่น

                วัยรุ่น(พูดอย่างโกรธๆว่า)    หมอไม่เข้าใจผมหรอก

                แพทย์(ใช้เทคนิคการสะท้อนความรู้สึก )     “.......คงรู้สึกหมดหวัง ที่จะมีใครเข้าใจปัญหานี้

การสะท้อนความคิด  ความเห็น  ความเชื่อ (reflection of  thinking, attitudes, believes)

                บางครั้งการสะท้อนความคิดวัยรุ่น จะช่วยให้เกิดความรู้สึกที่ดีต่อกันกับแพทย์ และช่วยให้วัยรุ่นหยุดคิดถึงสิ่งที่ตนเองคิด และในหลายโอกาสช่วยให้วัยรุ่นเห็นความสัมพันธ์ของความคิด ความรู้สึก และพฤติกรรมของตนเองได้  ตัวอย่างเช่น

                “...........คิดว่าพ่อแม่ไม่เข้าใจ

                “...........คิดว่าถ้าขออนุญาตก่อน พ่อคงปฏิเสธ

                บางจังหวะ  การสะท้อนความคิดก็ช่วยแก้ไขสถานการณ์ได้ เช่น

                วัยรุ่น(พูดอย่างโกรธๆว่า)    หมอไม่เข้าใจผมหรอก

                แพทย์(ใช้เทคนิคการสะท้อนความคิด ) “..........คิดว่าปัญหานี้ยาก  จนคนอื่นคงไม่เข้าใจ

                วัยรุ่น(พูดอย่างโกรธๆว่า)    ลองหมอมาเป็นผมบ้างสิ หมอจะทำอย่างไร

                แพทย์(ใช้เทคนิคการสะท้อนความคิด)  “..........คงคิดว่าเรื่องนี้เกิดขึ้นกับใคร ก็คงยากที่จะตัดสินใจ

การถามความคิดและความรู้สึก (exploring the feeling and thinking) นอกจากเทคนิคการสะท้อนความคิดความรู้สึกข้างต้นแล้ว บางครั้งการสอบถามความคิด ความรู้สึก จะช่วยให้แพทย์เข้าใจวัยรุ่นมากขึ้น และสร้างความรู้สึกที่ดีต่อกันได้มาก เช่น

                “คุณแม่ทำแบบนั้น  ..............คิดอย่างไรบ้าง

                “โดนเหตุการณ์แบบนั้น  ............รู้สึกอย่างไร

แสดงทัศนคติที่ดีต่อวัยรุ่น (rapport, nonjudgmental attitude) แพทย์ควรมีความเข้าใจ(understanding)  ยอมรับ, (unconditional positive regard)  มองในแง่ดีเป็นกลาง (neutral)  อยากช่วยเหลือ (empathy)  เห็นใจ (sympathy)

                “ความสนใจเรื่องเพศในวัยรุ่น ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ  ......มีความสนใจเรื่องนี้บ้างไหม

                “เพื่อนบางคนอาจมียาเสพติดมาชักชวนกัน  .......เคยเห็นบ้างไหม  เคยลองบ้างไหม

แสดงสิ่งที่ทีมแพทย์จะช่วยเหลือได้ (hope)  เช่น สร้างความเข้าใจกัน  วิธีการบางอย่างพ่อแม่ก็ไม่เข้าใจ  ทำไม่ถูก  มีการจัดการไม่ดี  เรื่องบางอย่างที่หมอช่วยได้ทันที  เช่นการให้ความรู้พ่อแม่ การฝึกทักษะต่างๆ  เมื่อช่วยแล้วจะเกิดผลดีอย่างไร  ถ้าไม่ช่วยจะเกิดผล(เสีย)ตามมาอย่างไร

การให้วัยรุ่นได้ระบายความรู้สึก(ventilation)

                “บางทีการร้องไห้ หรือได้ระบายความทุกข์ใจไม่สบายใจก็ช่วยให้ใจสบายขึ้น

                “หมออยากให้.....เล่าเรื่องที่อาจไม่สบายใจ  แต่อาจทำให้เราเข้าใจเหตุการณ์ดีขึ้น

สรุปความ(summarization)

                “ปัญหาใหญ่เรื่องหนึ่ง คือคุณแม่ไม่ค่อยเข้าใจความต้องการของ.....

                “หลายครั้งที่........ก็ทำอะไรด้วยอารมณ์  แต่ก็มาคิดเสียใจทีหลัง

แปลความหมาย(interpretation)

                “เวลาโกรธพ่อแม่ ก็แกล้งให้พ่อแม่หงุดหงิด

การชมเชย(positive reinforcing)

                “หมอคิดว่าเป็นการดีมาก   ที่...อยากจะเข้าใจตัวเอง   .......อยากแก้ไขเปลี่ยนแปลง

                “ดีนะที่.....มีความสนใจในเรื่องการเรียน

การสำรวจปัญหาอย่างเป็นระบบ(system review)

                รวบรวมข้อมูลเบื้องต้นจากอาการต่างๆ และปัญหาที่ได้จากวัยรุ่นและครอบครัว ข้อมูลของครอบครัว การเลี้ยงดูตั้งแต่เกิด พัฒนาการ การเรียน ความสัมพันธ์กับครอบครัวและกับโรงเรียน ปัจจัยสาเหตุ ปัจจัยกระตุ้นและส่งเสริมให้เป็นปัญหา หรือปัจจัยป้องกัน ข้อดีและจุดเด่นจุดแข็งของวัยรุ่น

3.สรุปและเลือกประเด็นที่สำคัญร่วมกัน  ที่จะทำงานต่อไป

                การเลือกประเด็นที่สำคัญ และวัยรุ่นยอมรับเพื่อทำงานร่วมกัน ควรเป็นเรื่องต่อไปนี้

·        เรื่องที่วัยรุ่นรู้สึกว่าเดือดร้อน ต้องการความช่วยเหลือ เช่น อาการทางร่างกายจากความเครียด อาการย้ำคิดย้ำทำ อารมณ์ซึมเศร้า ความไม่เข้าใจของพ่อแม่ การถูกจำกัดสิทธิต่างๆ

·        เรื่องที่วัยรุ่นอยากให้เปลี่ยนแปลง  เช่นความสัมพันธ์ภายในบ้านที่ไม่ค่อยดี  การยินยอมให้ในสิ่งที่วัยรุ่นต้องการ  เช่น เวลาไปกับเพื่อน  เงิน  โทรศัพท์

การเลือกเรื่องมีความสำคัญมาก เพราะจะช่วยให้เข้าถึงปัญหาที่แท้จริง การเลือกควรให้วัยรุ่นมีส่วนร่วม เช่น

                “เราจะตั้งเป้าหมายเรื่องใดก่อนดี

                “เรื่องเวลาเครียด แล้วอาการปวดหัว น่าสนใจเหมือนกัน ไม่ทราบว่า....คิดอย่าง

                “เรื่องความไม่เข้าใจกันในบ้าน มีความสำคัญต่อ......จนอยากให้มีการเปลี่ยนแปลงไหม

                “.....คงอยากให้ผลการเรียนดีขึ้นกว่านี้

                “ปัญหาการเรียนน่าจะเป็นผลของอารมณ์  คิดอยากจะแก้ไขอย่างไร

                “ลองช่วยกันเลือกเรื่องที่น่าจะแก้ไขกันได้ก่อน

                “เคยคิดจะแก้ไขอย่างไรแล้วบ้าง

                “สรุปแล้วคิดว่าเราน่าจะมุ่งประเด็นนี้.....  ก่อนจะดีไหม

                หลักการในการตั้งประเด็นที่น่าจะเป็นเป้าหมาย ควรให้สอดคล้องกับความต้องการของวัยรุ่น แพทย์อาจช่วยโน้มน้าวให้วัยรุ่นมองเห็นปัญหาที่แท้จริง และมีทิศทางที่ถูกต้อง

4.ตั้งเป้าหมายในการทำงานต่อไปด้วยกัน

               เมื่อผู้สัมภาษณ์ได้ข้อมูลเพียงพอแล้ว ต่อไปคือการแก้ไขปัญหา โดยวิธีการ เป้าหมายร่วมกับวัยรุ่น ควรช่วยกันคิดและให้ออกมาเป็นความต้องการของวัยรุ่นจริงๆ และควรจะครอบคลุมประเด็นหลักๆของปัญหา

 การแก้ไขต่อไปจะเกิดในด้านต่างๆ คือ

·        การเปลี่ยนแปลงของตนเอง เช่น การสังเกตอารมณ์ตนเองให้มากขึ้น  มีการจัดการกับอารมณ์ได้ดี  ควบคุมตัวเองได้ ยั้งใจตัวเองได้มากขึ้น  จัดระเบียบวินัยของตัวเอง เอาใจใส่เรื่องส่วนตัวมากขึ้น รับผิดชอบส่วนรวมมากขึ้น

·        สร้างแรงจูงใจให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแก้ไขตนเอง

                “หมอคิดว่า  ถ้า....แสดงความรับผิดชอบโดย.......  คุณพ่อคุณแม่  คงจะไว้วางใจมากขึ้น  การจะขออนุญาตไปกับเพื่อนน่าจะง่ายขึ้นด้วย

·        ให้ความหวังและโอกาสที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น

                “หมอจะช่วยอธิบายให้คุณพ่อคุณแม่เข้าใจความต้องการของวัยรุ่นมากขึ้น  แต่...ก็ต้องช่วยหมอทำให้พ่อแม่ไว้ใจ เช่น การรักษาคำพูด  ถ้าเราพยายามแล้วพ่อแม่ยังไม่เปลี่ยนแปลง  ขอให้กลับมาเล่าให้หมอฟังด้วย

·        อธิบายสิ่งที่จะวางแผนร่วมกับพ่อแม่(clarification)

                “หลังจากนี้หมอจะคุยกับพ่อแม่ สิ่งที่หมอจะพูดคือ อธิบายให้ท่านเข้าใจว่า....................  และจะช่วยให้ท่านยืดหยุ่นกับ......บ้างเช่น อาจจะอนุญาตให้ไปกับเพื่อนได้ในวันหยุด แต่จะขออนุญาต ต้องบอกกันก่อนในเรื่องรายละเอียด เช่น ไปที่ไหน กับใคร เวลาใด จะกลับเมื่อไร  อย่างนี้จะดีไหม  ฯลฯ

                “หมอยังไม่แน่ใจว่าจะพูดให้พ่อแม่เปลี่ยนแปลงได้มากน้อยแค่ไหน  แต่เท่าที่คุยกับเขาแล้ว ก็เห็นว่าน่าจะรับฟังหมอบ้าง แต่นิสัยใจคอคนตามปกตินั้น จะเปลี่ยนแปลงทันทีคงยาก แต่ก็น่าทดลองดู ให้โอกาสท่านเปลี่ยนแปลงก่อน  ถ้าไม่สำเร็จเราจะกลับมาคุยกันใหม่

5.การช่วยกันในทางปฏิบัติ (Working through)

เป็นกระบวนการแก้ไขเปลี่ยนแปลง คิด ตัดสินใจ ฝึกฝนตนเอง เพื่อให้แก้ไขปัญหา สร้างสิ่งใหม่ มักจะเกิดขึ้นในระยะเวลาต่อมา ที่เริ่มมีความสัมพันธ์ดีต่อกันแล้ว ผู้ให้คำปรึกษาจะใช้เทคนิคต่างๆที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ และเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในระยะยาว ขั้นตอนนี้มักใช้เวลานานพอสมควร กว่าจะบรรลุตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้  ในการสัมภาษณ์นั้น เมื่อแพทย์จะรวบรวมข้อมูลมากพอ จนสามารถวางแผนการช่วยเหลือต่อไปได้แล้ว ต่อไปก็จะพยายามโน้มน้าว ให้วัยรุ่นมีแรงจูงใจที่จะแก้ไขในขั้นตอนแรกนี้ และในการพบกันครั้งต่อไป การเริ่มการช่วยเหลือจะทำได้ง่าย

ในการสัมภาษณ์วัยรุ่นครั้งแรก ไม่ควรพยายามแก้ไขเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมให้ได้ทันที การให้คำแนะนำที่เร็วเกินไป นอกจากจะไม่ได้ผล วัยรุ่นมักไม่เชื่อแล้ว อาจรบกวนความสัมพันธ์ที่เป็นเป้าหมายหลักของการสัมภาษณ์ในระยะแรก เนื่องจากวัยรุ่นอาจจะรู้สึกว่า แพทย์ทำตัวเหมือนพ่อแม่ หรือครูของเขา แพทย์ควรอธิบายให้วัยรุ่นเข้าใจถึงปัญหา สาเหตุของปัญหา ขั้นตอนการช่วยเหลือต่อไป เช่น

                “จากข้อมูลที่เล่ามาทั้งหมด หมอคิดว่า อาการต่างๆเกิดจากอารมณ์ซึมเศร้า อาการนี้พบได้บ่อย และเป็นสาเหตุของปัญหาต่างๆ แต่สามารถรักษาได้ การช่วยเหลือต่อไปคือ.....................

                “ความคิดที่วนเวียนเช่นนี้ คืออาการของโรคย้ำคิดย้ำทำ หมอคิดว่าน่าจะมีการตรวจเพิ่มเติม คือ..............

                “ความไม่เข้าใจกันภายในบ้านมีมาก จนทำให้ทุกคนเกิดความเครียด ปัญหานี้น่าจะแก้ไขโดย................

                “หมอคิดว่า การตรวจทดสอบบางอย่างอาจจะช่วยให้เข้าใจสาเหตุของปัญหามากขึ้น จะแนะนำว่าน่าจะ..........

                “หมอยังไม่ค่อยเข้าใจบางอย่างในบ้าน อยากจะขอพบคุณพ่อในการนัดครั้งต่อไป   .......คิดอย่างไร

6. การสรุปและยุติการสัมภาษณ์หรือการให้คำปรึกษา(Termination)

ในการสัมภาษณ์ทุกครั้ง  การยุติการสนทนาในตอนท้ายการสัมภาษณ์  มีความสำคัญมากเช่นกัน ในการสรุปสิ่งที่ได้คุยกัน  การวางแผนต่อไปว่าจะทำอะไร  ตอบคำถามที่วัยรุ่นอาจจะมี  กำหนดการนัดหมายครั้งต่อไป การยุติการสัมภาษณ์ได้ดีจะช่วยให้วัยรุ่นร่วมมือมาติดตามการให้คำปรึกษา  และให้ร่วมมือในการให้ข้อมูลเพิ่มเติมหรือ ร่วมมือในการรักษาต่อไป

การสัมภาษณ์ครั้งแรกไม่จำเป็นต้องให้ได้ข้อมูลทุกอย่างครบ บางเรื่องที่วัยรุ่นยังไม่พร้อมจะเปิดเผย อาจต้องรอให้วัยรุ่นเกิดความไว้วางใจ และเปิดเผยในครั้งที่สองหรือครั้งที่สามก็ได้

 “คุยกันมานานแล้ว ไม่ทราบว่า ......อยากจะถามอะไรหมอบ้าง

หมอดีใจที่....ให้ความร่วมมือดีมาก หมออยากจะพบเพื่อคุยกันอีกหลังจากนี้

หลังจากนี้แล้ว หมอจะพบกับพ่อแม่สั้นๆ อธิบายให้ท่านเข้าใจ หลังจากนั้นจะนัดพบกันครั้งต่อไปในสัปดาห์หน้า

ในกระบวนการให้คำปรึกษาระยะยาว การสิ้นสุดการให้คำปรึกษาควรมีการเตรียมตัวล่วงหน้า เพื่อให้วัยรุ่นเตรียมใจยุติการพบปะกัน ซึ่งอาจเกิดความวิตกกังวลต่อการพลัดพราก และอาจเกิดอาการของความวิตกกังวลได้มาก ทำให้ยุติการให้คำปรึกษาได้ยาก เกิดภาวะติดผู้ให้คำปรึกษา



เทคนิคการสื่อสารที่ดี

1.        หลีกเลี่ยงการใช้คำถามที่ขึ้นต้นว่า  ทำไม

การใช้คำถามที่ขึ้นต้นว่า  ทำไม.....”  เช่น  ทำไมเธอมาโรงเรียนสาย”  จะสื่อสารให้นักเรียนเข้าใจได้ 2  แบบ คือ

·        เธอทำไม่ดีเลย  ทำไมจึงทำเช่นนั้น    และ

·        ถ้ามีเหตุผลดีๆ  การกระทำเช่นนั้นก็อาจเป็นที่ยอมรับได้

ผลที่ตามมาคือ เด็กจะพยายามหาเหตุผลเข้าข้างตนเองมากขึ้น  เพื่อพยายามยืนยันว่า  ความคิดและการกระทำของเขาถูกต้อง  เป็นการสอนให้เด็กเถียงแบบข้างๆคูๆ  แล้วครูก็จะโมโหเด็กเสียเอง  ทั้งๆที่เป็นคนเริ่มต้นให้เด็กหาเหตุผล  แต่เมื่อเด็กแสดงเหตุผล  ก็ไม่ยอมรับเหตุผลของเขา

ถ้าต้องการทราบเหตุผลจริงๆของพฤติกรรมเด็ก  ควรถามดังนี้

ครูอยากรู้จริงๆว่าอะไรทำให้เธอทำอย่างนั้น

พอจะบอกครูได้ไหมว่า  เธอคิดอย่างไรก่อนที่จะทำอย่างนั้น

เกิดอะไรขึ้น  ทำให้เธอมาโรงเรียนสายในวันนี้

มันเกิดอะไรขึ้น  ไหนลองเล่าให้ครูเข้าใจหน่อย

2.        ตำหนิที่พฤติกรรม  มากกว่า ตัวเด็ก 

ถ้าครูจะตำหนิเด็ก  ต้องระวังการต่อต้านไม่ยอมรับ  วิธีการที่ทำให้เด็กยอมรับ  และไม่เสียความรู้สึกด้านดีของตนเอง  สามารถทำได้ด้วยการตำหนิที่พฤติกรรมนั้น    ดีกว่าตำหนิที่ตัวเด็ก  ดังตัวอย่างต่อไปนี้

การมาโรงเรียนสาย  เป็นสิ่งที่ไม่ดี”     ดีกว่า     เธอนี่แย่มาก  ขี้เกียจจังเลยถึงมาสาย

การทำเช่นนั้น  ไม่ฉลาดเลย”    ดีกว่า    เธอนี่โง่มากนะ  ที่ทำเช่นนั้น

ครูไม่ชอบที่เธอไม่ได้ช่วยงานกลุ่ม   งานนี้ทุกคนต้องช่วยกัน “   ดีกว่า    เธอนี่เป็นคนเอาเปรียบเพื่อนนะ

                ไม่ควรใช้คำพูดทำนองว่า  เป็นนิสัยไม่ดี  หรือสันดานไม่ดี  เพราะจะทำให้เด็กต่อต้าน  หรือแกล้งเป็นอย่างนั้นจริงๆ  หรือลามไปถึงพ่อแม่  เช่น  อย่างนี้พ่อแม่ไม่เคยสอน  ใช่ไหม

3.        ฝึกใช้คำพูดที่ขึ้นต้น  ฉัน......”   มากกว่า  เธอ.............”  ( I-YOU  Message)   ได้แก่

ครูไม่ชอบการที่นักเรียนมาสาย”      ดีกว่า  เธอนี่แย่มากที่มาสาย

ครูอยากให้นักเรียนมาเช้า

ครูไม่ชอบพูดเวลานักเรียนไม่ตั้งใจฟัง

ครูอยากให้นักเรียนหยุดฟัง  เวลาครูพูด

ครูเสียใจที่เธอทำเช่นนั้น

ครูอยากให้เธอ..................

ครูจะดีใจมากที่................

4.        บอกความคิด  ความรู้สึก  ความต้องการ

ฝึกให้เด็กมีทักษะในการสื่อสาร  ความกล้าพูด  กล้าบอกสิ่งที่ตัวเองคิด  รู้สึก  และต้องการอย่างสุภาพ  เข้าใจกัน  ทั้งต่อครู  และต่อเพื่อนๆด้วยกันเอง  ไม่ควรอาย  หรือกลัวเพื่อนโกรธ  บางคนกลัวเพื่อนไม่ยอมรับ  เลยยอมตามเพื่อน  ถูกเพื่อนเอาเปรียบ

ครูช่วยกระตุ้นเรื่องนี้ได้  ด้วยการฝึกรายบุคคล

เธอคิดอย่างไร  เรื่องนี้............

เธอรู้สึกอย่างไร  ลองบอกครู...........

เธอต้องการให้เป็นอย่างไร...........

                ครูควรรับฟังเด็กมากๆ  ให้เขารู้สึกว่า  การพูดบอกเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องปกติ  และสามารถบอกกับเพื่อนๆได้ด้วย

5.       ชมบนหลังคา  ด่าที่ใต้ถุน

ครูควรมีเทคนิคในการชม  ให้เกิดความภาคภูมิใจตนเอง   ควรชมให้ผู้อื่นทราบด้วย  หรือร่วมชื่นชมด้วย    และเมื่อชมแล้ว  อาจเสริมให้เด็กรู้สึกต่อไปว่า  เขาคงจะพอใจที่ตัวเองเป็นคนดีด้วย   ต่อไปเด็กจะชื่นชมตัวเองเป็น  ไม่ต้องรอให้คนอื่นเห็นความดีของตน  หรือรอให้คนอื่นชมเสมอไป  ดังตัวอย่างนี้

ครูดีใจมากที่เธอช่วยเหลือเพื่อน  เธอคงรู้สึกภูมิใจในตัวเองที่ทำเช่นนั้น  ใช่ไหม

พวกเราภูมิใจที่เธอได้รางวัลครั้งนี้  ช่วยกันตบเมือให้หน่อย  เธอคงภูมิใจในตัวเองเหมือนกันใช่ไหมจ๊ะ

แต่เวลาเตือน อย่าให้เกิดความอับอาย  ให้ค่อยๆคิด  และยอมรับด้วยตัวเอง  อย่าให้เสียความรู้สึก  ควรเตือนเป็นการส่วนตัว  ก่อนจะเตือน  ควรหาข้อดีของเขาบางอย่าง  ชมตรงจุดนั้นก่อน  แล้วค่อยเตือนตรงพฤติกรรมนั้น เช่น

ครูรู้ว่าเธอเป็นคนฉลาด  แต่การที่เธอเอาของเพื่อนไปโดยไม่บอกนี่ไม่ถูกต้อง

ครูเห็นแล้วว่าเธอมีความตั้งใจมาก  แต่งานนี้เป็นงานกลุ่มที่ต้องช่วยกันทำทุกคนนะจ๊ะ

6.        ถามความรู้สึก  สะท้อนความรู้สึก  เช่น

หนูคงเสียใจ  ที่คุณครูทำโทษ” (สะท้อนความรู้สึก)

หนูรู้สึกอย่างไรบ้าง  ที่พ่อแม่ไม่ได้อยู่ด้วยกัน” (ถามความรู้สึก)

เธอรู้สึกอย่างไรบ้าง  เมื่อถูกเพื่อนแกล้ง”  (ถามความรู้สึก)

เธอคงโกรธที่ถูกเพื่อนแกล้ง”  (สะท้อนความรู้สึก)

เรื่องที่คุยกันนี้คงจะกระทบความรู้สึกของหนูมาก  ครูจะคุยกันต่อได้ไหม” (สะท้อนความรู้สึก)

7.        ถามความคิดและสะท้อนความคิด  เช่น

เมื่อเธอโกรธ  เธอคิดจะทำอย่างไรต่อไป”  (ถามความคิด)

เมื่อเด็กตอบว่า  ผมอยากกลับไปชกหน้ามัน”  ควรพูดต่อไปว่า

เธอโกรธมากจนคิดว่าน่าจะกลับไปชกหน้าเขา”  (สะท้อนความคิด)

การถามและสะท้อนความรู้สึกและความคิด  จะได้ประโยชน์มาก  เพราะจะทำให้เด็กรู้สึกว่า  เราเข้าใจ(ความคิด และความรู้สึก)ของเขา  ทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดี  เป็นพวกเดียวกัน  และจะเปิดเผยข้อมูลมากขึ้น  ชักจูงได้ง่ายขึ้น

8.        การกระตุ้นให้คิดด้วยตนเอง

ในการฝึกให้เด็กคิดและแก้ปัญหานั้น  ควรฝึกให้เด็กคิดเองก่อนเสมอ  เมื่อเด็กคิดไม่ออก  ไม่รอบคอบ  ไม่กว้าง  ครูอาจช่วยชี้แนะให้ในตอนท้าย  เช่น

เธอคิดว่าปัญหาอยู่ที่ไหน”  (ให้คิดสรุปหาสาเหตุของปัญหา)

แล้วเธอจะทำอย่างไรต่อไปดี”  (ให้คิดหาทางออก)

ทางออกแบบอื่นละ  มีวิธีการอื่นหรือไม่”  (ให้หาทางเลือกอื่นๆ  ความเป็นไปได้อื่นๆ)

ทำแบบนี้  แล้วคาดว่าผลจะเป็นอย่างไร”  (ให้คิดถึงผลที่ตามมา)

เป็นไปได้ไหม  ถ้าจะทำแบบนี้....(แนะนำ).......เธอคิดอย่างไรบ้าง



การให้คำปรึกษาครอบครัว  (Family  Counseling)

·        สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับครอบครัว

·        แสวงหาข้อมูลจากครอบครัว

·        วิเคราะห์ครอบครัว  ปัญหาของครอบครัว  จุดอ่อน  จุดแข็ง  หน้าที่ของครอบครัว บทบาท  การสื่อสาร  การเข้าใจความรู้สึก

·        ชักจูงใจให้เกิดการเปลี่ยนแปลง  ในโครงสร้าง  และหน้าที่ของสมาชิกครอบครัว

·        ชี้แนะช่องทางของการเปลี่ยนแปลง

·        ฝึกทักษะที่เป็นปัญหา

·       ใช้หลักพฤติกรรมบำบัด ร่วมด้วยเพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม

การให้คำปรึกษาเพื่อน(Peer Counseling)

·        สร้างบรรยากาศของการอยู่ร่วมกันแบบกลุ่ม  ไม่โดดเดี่ยว  ไม่เอาตัวรอดคนเดียว  เพื่อนมีหน้าที่ช่วยเหลือกัน

·        สร้างความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน  เป็นห่วงเป็นใยกัน  เมื่อมีใครหายไปเพื่อนควรสนใจ  เป็นห่วงเป็นใย  ติดตามข่าวสาร  พยายามดึงเพื่อนเข้ากลุ่ม  มีการแบ่งปันกัน  ช่วยเหลือกัน

·        เมื่อมีเพื่อนทำผิด  เพื่อนที่ดีควรช่วยเตือน และชักจูงให้เปลี่ยนแปลง  เลิกทำผิด  กลับมาทำดี โดยไม่โกรธกัน  มองกันในทางที่ดี

·        ฝึกทักษะการสื่อสารที่ดี  บอกความคิด  ความต้องการ  ความรู้สึก  เมื่อไม่พอใจมีวิธีบอกให้เพื่อนเข้าใจ  และสนองความต้องการกันได้ตรงจุด

·        ฝึกทักษะสังคมทางบวก  การให้  การรับ  การขอโทษ  การขอบคุณ  การเข้าคิว  รอคอย  การทำดีต่อกัน  การพูดดีๆ  สุภาพ  อ่อนโยน  ทำตัวให้เป็นประโยชน์ต่อกัน   

                                                                                                                         ที่มา : http://www.psyclin.co.th/

Followers