Pages

Subscribe:

Friday, February 24, 2012

วิธีรับมือกับลูกวัยรุ่น | Inspirational

วิธีรับมือกับลูกวัยรุ่น | Inspirational

เสียงกระแทกแปลกหูทำให้นิชา การ์เดียร์สะดุ้งตื่นในคืนหนึ่งเมื่อปีก่อน เธอเดินไปดูเออร์ฟาน ลูกชายวัย 12 ที่ห้อง เมื่อไม่เห็นลูกในห้อง เธอก็มองไปนอกหน้าต่างและตกใจมากที่เห็นเขาขึ้นไปนั่งอย่างหมิ่นเหม่อยู่บนขอบชายคาของหลังคาบ้านสามชั้นในสิงคโปร์
แม้เขาจะไม่ขัดขืนเมื่อเธอเรียกให้กลับเข้ามา แต่นิชารู้ว่ามีอะไรบางอย่างที่ผิดปกติ เช้าวันรุ่งขึ้นเมื่อสำรวจขอบหน้าต่างห้องลูก เธอก็พบกระดาษห่อขนม ขวดโค้กเปล่า และเศษคุกกี้ ซึ่งแสดงว่าตรงนั้นเป็นที่สิงสู่ประจำของลูกมานานพอดู ช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เออร์ฟานชอบเก็บตัวเงียบ เกรดเขาดิ่งลงทั้งที่เรียนพิเศษมากมาย "ดิฉันไม่รู้ว่าตัวเองทำผิดพลาดตรงไหน แต่ลูกกลายเป็นคนแปลกหน้าโดยสิ้นเชิงสำหรับดิฉันไปเสียแล้ว" นิชากล่าว 


มีพ่อแม่จำนวนไม่น้อยที่ตกอยู่ในสภาพเดียวกับนิชาคือรู้สึกสิ้นหวังเมื่อลูกไม่ยอมเชื่อฟัง ท่าทีที่ก้าวร้าวสลับกับอาการบึ้งตึงไม่ปริปากของลูกวัยรุ่นทำให้พ่อแม่ต้องอึดอัดกลัดกลุ้มเมื่อพยายามที่จะสื่อสารด้วย แม้แต่วัยรุ่นที่นับว่าเป็น "เด็กดี" ก็ยังปลีกตัวออกห่างจากพ่อแม่ไปสร้างชีวิตอิสระของตนขึ้นใหม่กับเพื่อนๆซึ่งเป็นคนพวกเดียวที่สำคัญในความคิดของเขา เมื่อต้องเผชิญความเปลี่ยนแปลงแบบนี้ พ่อแม่จึงล่าถอยและเลิกพยายามที่จะใกล้ชิดกับลูก "การทำเช่นนี้อาจมีผลเสียหาย" ดายาล มิรจันทนี นักจิตเวชจากอินเดีย กล่าว "เมื่อพ่อแม่ล่าถอยออกมาก่อนเวลาอันควร ลูกก็จะถอยห่างไปไกลขึ้นอีก และเกลียวสัมพันธ์ ระหว่างพ่อแม่กับลูกก็จะยิ่งคลายลง" ทว่าการที่เด็กวัยรุ่นจะปลีกตัวออกจากครอบครัวนั้นไม่ใช่เรื่องปกติและมีผลดีแก่ตัวเด็กหรอกหรือ เห็นได้ชัดว่าไม่ มีงานวิจัยใหม่ๆที่เสนอแนะว่าเด็กวัยรุ่นต้องการพ่อแม่มากพอๆกับเด็กที่อ่อนวัยกว่า โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในวัยที่หมิ่นเหม่ระหว่างอายุ 13 ถึง 16 ปี หน่วยวิจัยแห่งชาติซึ่งติดตามศึกษาสุขภาพวัยรุ่นเฝ้าศึกษาเด็กอเมริกันวัยรุ่นจำนวนหลายพันคนมาตั้งแต่ปี 2537 ให้ข้อสรุปว่า "สายสัมพันธ์" กับคนในครอบครัวจะปกป้องเด็กวัยรุ่นให้พ้นจากพฤติกรรมที่มีความเสี่ยงสูง เช่น การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกันและการใช้ยาเสพติด แล้ว "สายสัมพันธ์" หมายความว่าอะไรกันแน่ สายสัมพันธ์นี้มิได้หมายความแค่รู้ว่าตนเป็นที่รักเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการมีพ่อแม่อยู่ใกล้ๆในช่วงที่เป็นเด็ก ทั้งก่อนไปโรงเรียนและหลังเลิกเรียน เวลากินอาหารและก่อนเข้านอน นอกจากนี้ยังมีรายงานที่บันทึกถึงคุณประโยชน์อื่นๆของความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างพ่อแม่กับลูกวัยรุ่นไว้อีกหลายประการ เช่น ความกังวลเรื่องน้ำหนักตัวจะน้อยลง ความผิดปกติเรื่องการกินอาหารลดลง การเลื่อนไปเรียนชั้นมัธยมปลายราบรื่นขึ้น และการกระทบกระทั่งในการคบหาเพื่อนๆวัยรุ่นด้วยกันลดลง ขณะเดียวกัน เด็กวัยรุ่นที่รู้สึกไม่มั่นคงในความสัมพันธ์ระหว่างตนกับพ่อแม่จะมีความเสี่ยงสูงขึ้นที่จะใช้ยาเสพติด มีพฤติกรรมก้าวร้าว ฝ่าฝืนกฎหมาย และอาจถึงกับฆ่าตัวตาย
"ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่และเด็กวัยรุ่นมีปัจจัยที่เป็นตัวผลักดัน" แครอล บัลเฮตเชต ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาเยาวชนที่สมาคมเด็กสิงคโปร์ กล่าว "เด็กวัยรุ่นที่เติบโตมาพร้อมกับปัญหาครอบครัวมีแนวโน้มจะผลักไสผู้ปกครองออกไปจากชีวิต และ โอนอ่อนตามแรงดึงของเพื่อนๆ" 

กอร์ดอน นิวเฟลด์ นักจิตวิทยาพัฒนาการในแคนาดา เรียกพฤติกรรมนี้ว่า "การอิงเพื่อนร่วมรุ่น" เด็กเหล่านี้จะรับแบบอย่างพฤติกรรมมาจากเพื่อนไม่ใช่จากพ่อแม่

"ปัญหาก็คือเพื่อนเหล่านี้กลายเป็นเข็มทิศทางศีลธรรมของเด็ก" นิวเฟลด์กล่าว "เด็กวัยรุ่นที่อิงเพื่อนจะไม่ต้องการดำเนินชีวิตตามครรลองค่านิยมของพ่อแม่ และ ไม่ใส่ใจต่อการไม่ยอมรับของพ่อแม่" นิวเฟลด์ยังกล่าวว่า โดยทั่วไป "เด็กวัยรุ่นจะ สร้างความลำบากใจให้แก่พ่อแม่มากขึ้น สอนยาก ก้าวร้าว วุฒิภาวะต่ำลงและแข็งกระด้างขึ้น"

เมื่อเป็นเช่นนี้ เราจะต้องทำอย่างไรจึงจะคงความสัมพันธ์กับลูกวัยรุ่นผู้อยากแต่จะอยู่ให้ห่างๆจากพ่อแม่ ต่อไปนี้เป็นกลยุทธ์ที่พ่อแม่และผู้เชี่ยวชาญด้านการเลี้ยงลูกพบว่าสามารถดึงพ่อแม่และลูกวัยรุ่นให้เข้ามาใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น ปรับความสัมพันธ์เสียก่อน ชาน คัม เวง พ่อลูกห้าในยะโฮร์บาห์รู โกรธมากเมื่อได้รับใบแจ้งหนี้ค่าโทรศัพท์ที่บ้านซึ่งสูงถึงเกือบ 5,000 บาท แล้วพบว่าลูกชายวัย 17 แอบโทรฯคุยกับแฟนสาวตอนเที่ยงคืนเป็นเวลานานๆ "ผมต้องทำงานหนักและเดินทางไปต่างประเทศบ่อยเพื่อหาเงินมาเลี้ยงครอบครัว ผมรู้สึกเบื่อหน่ายที่คิดว่าลูกไม่มองถึงความเสียสละของผมบ้างเลย" ชานกล่าว ชานกลัวว่าการขาดความเอาใจใส่อาจทำให้ลูกไปคบเพื่อนผิดๆ เขาจึงขอคำปรึกษาจากเพื่อนๆซึ่งแนะให้เขาเปิดอกพูดกับลูกชาย ชานแจกแจงบัญชีค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนโดยค่าโทรศัพท์เป็นยอดรายจ่ายที่สูงแล้วติดไว้ที่ตู้เย็น "ลูกไม่ตระหนักว่าค่าโทรฯจะมากถึงเพียงนี้ เมื่อผมนั่งลงคำนวณรายรับรายจ่ายกับลูก เขาก็ลดการใช้โทรศัพท์ลง" ชานกล่าว "เด็กๆที่มีโอกาสดีกว่าจะมองความจำเป็นพื้นฐานแตกต่างออกไปและไม่เข้าใจเรื่อง ความยากลำบากของพ่อแม่" บัลเฮตเชตกล่าว "ในยุคที่คนรีบรุดเพื่อแสวงหาชีวิตที่ดีขึ้น พ่อแม่ส่วนมากมักลืมไปว่าลูกต้องการคำชี้แนะและเวลาจากตน" รู้จักประนีประนอม เมื่อลูกวัยรุ่นเอารถพ่อแม่ไปขับโดยไม่ได้รับอนุญาต พ่อแม่มักคิดกลัวไปถึงสิ่งเลวร้ายที่สุด นั่นคือวันนี้ขับรถ พรุ่งนี้แข่งรถอย่างผิดกฎหมาย และวันต่อไปก็ขับรถขณะมึนเมา "พ่อแม่ต้องระลึกว่าประเด็นตอนนี้คือเรื่องขับรถ ไม่ใช่ตัวรถ" ดร. เตียว เซียนจิน นักจิตวิทยาของคลินิกที่ให้คำปรึกษาและผู้อำนวยการวิทยาลัยสุขภาพและวิทยาศาสตร์ธรรมชาติของมหาวิทยาลัยซันเวย์ในมาเลเซีย กล่าว หนังสือเล่มหนึ่งในจำนวน 28 เล่มที่เขาผู้นี้เขียนคือ วิธีพูดกับเด็กวัยรุ่น มีผู้มาขอคำปรึกษาร้องทุกข์ว่า ลูกวัย 17 ไม่ยอมพูดกับเธออีกเพราะเธอไม่ให้เขาใช้รถ "การบอกว่า "ไม่ได้" มีแต่จะทำให้เขายิ่งอยากขับรถมากขึ้น ดังนั้นให้เขาเรียนขับรถกับครูสอนขับเสียเลยจะดีกว่า เขาจะได้รู้กฎเกณฑ์เรื่องความปลอดภัย" ดร.เตียวกล่าว การ ประนีประนอมจะช่วยให้เรารู้ปัญหาที่แท้จริง และสามารถจัดการกับปัญหานั้นโดยไม่ไปพัวพันกับปัญหาด้านอารมณ์อื่นๆ เลือกสถานที่เอง เด็กวัยรุ่นจำนวนไม่น้อยต่อต้านการนั่งลงคุยอย่างเปิดอกกับพ่อแม่ที่นักจิตวิทยาบางคนประโคมกันว่าเป็นวิธีดีที่สุด แต่มักอยากคุยกับพ่อแม่และฟังขณะพ่อแม่กำลังทำอย่างอื่นอยู่ เช่น ชอปปิ้งหรือขับรถ ในสภาพการณ์เช่นนั้น การเปิดเผยความในใจจะดูไม่เครียดและเหมือนพูดขึ้นมาโดยไม่ตั้งใจ ซึ่งเป็นการช่วยรักษาหน้าของลูก
อย่างไรก็ตาม ความจริงนั้นใช่ว่าจะมองเห็นได้อย่างทะลุปรุโปร่งเสมอไป เมื่อพ่อแม่ถามลูกชายว่าอยากให้ไปดูเขาเล่นฟุตบอลไหม และลูกตอบว่า "คงอยากมั้งครับ ถ้าพ่อแม่อยากไป" ให้คิดว่า ที่จริงแล้ว เขาอยากให้เราไป

รักษาธรรมเนียมปฏิบัติของครอบครัวไว้ ธรรมเนียมของครอบครัวที่ทำกันเป็นประจำ เป็นต้นว่า การกินอาหารมื้อเย็นพร้อมหน้าไม่จำเป็นต้องล้มเลิกไปเมื่อลูกอายุ 13 ปี ดร. ซี. เจ. จอห์น ผู้อำนวยการแผนกสุขภาพจิตที่โรงพยาบาลเมดิคัลทรัสต์ในเมืองโคจิ ประเทศอินเดีย กล่าว "ธรรมเนียมปฏิบัติของครอบครัวช่วยสร้างความผูกพันและให้ความรู้สึกว่ามั่นคงปลอดภัย" ดร. จอห์นกล่าว "พวกเด็กวัยรุ่นจะไม่ยอมรับความจริงข้อนี้ตรงๆหรอก แต่ธรรมเนียมเช่นนี้จะบอกเด็กๆว่า เรายังห่วงใยใส่ใจในความผาสุกของพวกเขา" เมื่อรีดเดอร์ส ไดเจสท์สำรวจความคิดเห็นของเด็กวัยรุ่นกว่า 3,000 คนในเดือนกรกฎาคม 2548 เด็กจำนวนมากบอกว่า
ต้องการกินอาหารมื้อเย็นกับพ่อแม่


ข้อเตือนใจก็คือ "เวลาที่อยู่กับครอบครัวจะน่าพอใจยิ่งขึ้นหากเป็นที่เข้าใจร่วมกัน ว่าต้องไม่มีการทุ่มเถียงกัน" นักจิตเวชดายาลกล่าว นั่นหมายความว่าพ่อแม่ต้องไม่พูดถึงผลการเรียนที่คะแนนต่ำของลูกที่โต๊ะอาหาร เอาใจลูกมาใส่ใจเรา พ่อแม่มักหยิบยกชีวิตวัยรุ่นของตนมาเปรียบเทียบกับลูก โดยลืมไปว่าเด็กในศตวรรษที่ 21 มีความเครียดสูงกว่าที่ตนเคยมี จากความกดดันทางสังคมอย่างหนักการหมกมุ่นอยู่กับผลการสอบของเด็กวัยรุ่นทั่วทั้งเอเชียนั้นหมายความว่า เมื่อเลิกเรียน เด็กวัยรุ่นส่วนใหญ่จะไปเรียนพิเศษกับครูคนแล้วคนเล่า ทำให้เวลาที่จะคบหาเพื่อนๆและพักผ่อนเหลือน้อย "พ่อแม่ยังตั้งความคาดหวังกับลูกไว้สูงมากเหลือเกิน" นักจิตวิทยาบัลเฮตเชตกล่าว "ปล่อยให้ลูกมีเวลาหายใจบ้าง บางทีนั่นอาจเป็นทางเดียวที่จะทำให้ลูกเริ่มพูดกับเราอีกก็ได้" หาจุดร่วมให้พบ เมื่อมีผู้ถามนาชา อับดุลลาห์ ตัวแทนบริษัทท่องเที่ยวจาก กัวลาลัมเปอร์ว่า เธอทำอย่างไรจึงรักษาความสัมพันธ์กับลูกวัยรุ่นอายุ 11 และ 14 ปีเอาไว้ได้ เธอตอบว่า "เราไม่เคยขาดความสัมพันธ์ต่อกัน ดิฉันจะพยายามผูกพันกับลูกๆเอาไว้เสมอด้วยสิ่งที่เราสนใจร่วมกัน" เธอใช้ดนตรีเป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์กับลูกๆ "ดิฉันพาลูกไปดูคอนเสิร์ตของวงเรด ฮ็อต ชิลลี เปปเปอร์ส เมื่อตอนที่เราไปเที่ยวพักผ่อนที่สวีเดน เพราะลูกยังไม่โตพอที่จะไปกันเอง และลูกก็รู้สึกว่าการที่มีดิฉันไปด้วยนั้นวิเศษมาก"
ใช้เวลาอยู่กับลูกวัยรุ่นตามลำพัง เมื่อนิวเฟลด์เป็นทุกข์ที่ลูกสาววัย 13 ของเขาแยกตัวออกห่างจากครอบครัวและเอาแต่เลียนแบบภาษาท่าทางของเพื่อนๆ เขาก็กำหนดว่าจะพาลูกไปพักผ่อนหนึ่งสัปดาห์โดยไปกันเพียงสองคนและไปอยู่ที่กระท่อมชนบท และก็อย่างที่คาดไว้ นาตาชาไม่พอใจแผนการนี้ "แต่แล้วอาการแข็งขืนของลูกก็เริ่มคลายลง เราค่อยๆรื้อฟื้นความสนิทสนมที่เคยมีต่อกันเมื่อครั้งที่ลูกยังเล็กกว่านี้" นิวเฟลด์กล่าว "เมื่อสัปดาห์นั้นสิ้นสุดลง เราพ่อลูกเห็นพ้องกันว่าการไปพักผ่อนครั้งนั้นยอดเยี่ยมมาก" นิวเฟลด์กล่าว

ฟังให้มากขึ้น ว่ากล่าวให้น้อยลง ศาสตราจารย์ นายแพทย์พิภพ จิรภิญโญ แห่งภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล เขียนแนะนำการดูแลลูกช่วงวัยรุ่นไว้ในหนังสือ เลี้ยงลูกให้เก่งและดี ว่าพ่อแม่ควรเปลี่ยนบทบาทใหม่คือเป็นเพื่อนที่รู้ใจ บทบาทที่เคยแสดงเป็นผู้ปกครองและเป็นพ่อแม่คอยชี้แนะนั้นควรลดลงให้มากในระยะนี้ การชี้แนะและสั่งสอนใดๆแก่ลูกควรทำอย่างสม่ำเสมอตั้งแต่เล็กจนถึงช่วงก่อนวัยรุ่น และการสอนมาอย่างต่อเนื่องนั้นเพียงพอแล้ว เมื่อลูกเป็นวัยรุ่น พ่อแม่ควรทำตัวเหมือนเพื่อนของเขา เด็กวัยรุ่นจะไว้ใจเพื่อนสนิทเพราะมักมีความคิดที่คล้ายกันอีกทั้งรับฟังและเห็นอกเห็นใจเขา คำว่ากล่าวจะยิ่งทำให้วัยรุ่นแยกตัวจากพ่อแม่มากกว่าจะเข้ามาพูดคุยด้วย และแทนที่จะเป็นฝ่ายพูดเองทั้งหมด พ่อแม่ควรหาวิธีทำให้ลูกเป็นฝ่ายคิด ตัวอย่างเช่น หากลูกชายนำสมุดรายงานผลการเรียนที่ไม่ดีกลับมาบ้าน ให้ถามว่าลูกคิดจะจัดการอย่างไรกับสถานการณ์นั้น พูดเพียงสั้นๆและแสดงให้ลูกรู้ว่าพ่อแม่เชื่อมั่นในความสามารถของเขา ปรากฏว่าต้องใช้การพูดกันอย่างเปิดอกเต็มที่จึงทำให้นิชากับลูกชายเลิกปะทะกัน "ดิฉันบอกลูกว่าเป็นห่วงเรื่องเกรดของเขา และถามว่ามีอะไรที่กวนใจเขาหรือเปล่า ลูกสารภาพว่าเกลียดโรงเรียนเพราะว่ามีนักเรียนปีสุดท้ายคนหนึ่งที่คอยขู่เข็ญเอาเงินจากเขา นิชานำเรื่องนี้ไปรายงานผู้อำนวยการโรงเรียน ซึ่งมีผลทำให้คณะครูผู้ปกครองของโรงเรียนเรียกเด็กที่โตกว่าผู้นั้นมาตักเตือนคาดโทษ "เดี๋ยวนี้ ดิฉันกับลูกสนิทกันมากขึ้น" นิชากล่าว "เขาเห็นแล้วว่าดิฉันเป็นห่วงเขาจริงๆและพร้อมจะรับฟังปัญหาของเขาเสมอ"

No comments:

Post a Comment

Followers